สฤณี ติง ท่าทีรัฐบาลไทยต่อสงครามการค้าของทรัมป์
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการด้านการเงินและปัญญาชนสาธารณะ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
ผ่านไปหลายวันแล้ว ยังไม่เห็นข้อมูลการเจรจาหรือท่าทีที่ชัดเจนของรัฐบาลไทยว่าจะเอายังไงกับ “สงครามการค้า” ที่นายทรัมป์จุดชนวนผ่านการตั้งกำแพงภาษีเว่อร์วังอิหยังวะ เห็นแต่แถลงการณ์กว้าง(เป็นทะเล)ของนายกฯ และรายชื่อทีมเจรจา ซึ่งก็ทำให้คนสงสัยหนักเข้าไปอีกมากมาย เช่น ไหนว่าเตรียมการล่วงหน้ามาหลายเดือน ทำไมยังไม่เห็นปฏิกิริยาชัดเจนเหมือนประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน? แล้ววันก่อนที่ผู้นำชาติอาเซียนยกหูหารือการวางแผนร่วมกัน ทำไมไม่มีไทยในข่าวด้วย? ฯลฯ และ ฯลฯ
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้เราคงต้องเอาใจช่วยให้ประเทศเรารอดพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ทีมเจรจาแสวงความร่วมมือจาก “ทุกภาคส่วน” ไม่ใช่ฟังเสียงแต่กลุ่มทุนผูกขาดนะคะ 55
ในฐานะที่ตัวเองทำวิจัยเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน/ธุรกิจที่ยั่งยืน และติดตาม/เขียนเรื่องธุรกิจผูกขาด/การเถลิงอำนาจยึดรัฐ มาพักใหญ่ ส่วนตัวเห็นว่า สิ่งที่ “เมคเซนส์” หรือมีเหตุมีผลสำหรับไทยที่จะ “ยอม” อ่อนข้อให้ (“ลดการกีดกันทางการค้า” ในสายตาเมกา) แลกกับการลดหรือยกเลิกกำแพงภาษีของนายทรัมป์ คือเรา “เปิด” ให้สินค้าเมกามากขึ้น ควรเป็นสิ่งที่เข้าข่าย 1) เราไม่เสียอะไรมากมาย หรือ 2) เราน่าจะได้ประโยชน์ในระยะยาว คือยังไงๆ ก็ควรทำอยู่ดี เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น ฯลฯ
ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่เข้าข่ายต่อไปนี้อาจ “ดีกับไทย” ในระยะยาว (ข้อมูล “การกีดกันทางการค้า” มาจากรายงาน Foreign Trade Barriers ปี 2025 ของ USTR — อ่านได้ที่ https://ustr.gov/sites/default/files/files/Press/Reports/2025NTE.pdf)
1.ภาคส่วนที่การเปิดน่าจะดีต่อการแข่งขัน ลดอำนาจผูกขาด — การลดกำแพงภาษีและ/หรือมาตรการกีดกัน น่าจะช่วยลดอำนาจเหนือตลาด สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเอง
เช่น ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจโทรคมนาคม การนำเข้าเหล้าองุ่น เหล้าขาว สัตว์ปีก เนื้อหมู เนื้อวัว (สองอย่างหลังนี้ต้องกำหนดมาตรฐาน MRL – Maximum Residue Limits ให้ชัดเจนตามมาตรฐานสากล CODEX เพราะสารเร่งเนื้อแดงอันตรายต่อสุขภาพ)
2.ภาคส่วนที่การเปิดน่าจะช่วยสร้างผลดีทางอ้อม เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (การนำเข้าจากเมกาแทนที่พม่า อาจช่วยลดแรงจูงใจที่จะเผาไร่มหาศาล สร้างฝุ่นพิษ PM2.5 มาฆ่าคนไทย) และ/หรือลดต้นทุน เช่น ก๊าซธรรมชาติ (ถ้า LNG จากเมกามีราคาถูกกว่าหรือเท่ากับแหล่งอื่นๆ)
3.มาตรการอื่นๆ ที่เมกามองเป็นส่วนหนึ่งของอุปสรรคหรือการกีดกันการค้าจากเมกา หลายเรื่องเราน่าจะต้อง “ทำอยู่ดี” ถ้าอยากสร้างความเข้มแข็งของภาคเอกชนและเน้น “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในระยะยาว
(เหตุผลหนึ่งที่ต้อง “ทำอยู่ดี” คือ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ EU ก็อยากได้ และอยู่ในมาตรฐานต่างๆ ของ OECD โดยเฉพาะมาตรฐานเรื่องความรับผิดชอบของธุรกิจข้ามชาติ ถ้าไทยอยากเซ็นสัญญา FTA กับ EU และเข้าเป็นสมาชิก OECD ก็ต้องทำเรื่องพวกนี้ด้วย ดังนั้นทำไมไม่ทำเสียตั้งแต่ตอนนี้?)
ยกตัวอย่างเช่น
เพิ่มประสิทธิภาพมาตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
แก้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ยกเลิกมาตราเอาผิดกับการแสดงออกออนไลน์ที่กว้างเป็นทะเล (เรื่องนี้เครือข่ายพลเมืองเน็ตเสนอมาสิบกว่าปีแล้ว)
#เพิ่มมาตรการคุ้มครองสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะการรับอนุสัญญารับรองเสรีภาพการรวมกลุ่ม (ฉบับที่ 87 และ 98) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS