News
ครูพิจิตร ตบเท้าพรึบ! ติวเข้ม Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูง เชื่อ! การศึกษาไทยมาถูกทาง !!
Published
5 เดือน agoon
By
Admin Tojoผู้บริหาร-ครู จ.พิจิตร เดินเครื่องตามข้อเสนอแนะ รมว.ศธ.ติวเข้ม Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูง หวังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เด็กไทยพัฒนาขึ้น และสามารถสร้างนวัตกรรมเองได้
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า ตามที่ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เห็นด้วยที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้นำรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Active learning มาใช้และเห็นด้วยที่จะให้มีการผลักดันกันทั่วประเทศเพราะที่ผ่านมามีการนำรูปแบบนี้มาใช้แต่ยังไม่สมบูรณ์มากพอ ซึ่งการเรียนการแบบ Active learning เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เด็กไทยพัฒนาขึ้น และสามารถสร้างนวัตกรรมเองได้ โดยได้กล่าวขอบคุณหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เข้ามาร่วมสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนการศึกษาให้ดีขึ้น และอยากให้ขับเคลื่อนรูปแบบที่มุ่งเน้นให้ครูมีกระบวนการคิดขั้นสูงให้ครอบคลุมในประเทศโดยเร็ว เพราะอยากเห็นความสำเร็จของการศึกษาไทยออกมาอย่างสมบูรณ์ และเด็กไทยได้ประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 3-4 สิงหาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้จัดโครงการพัฒนาครูต้นแบบในเขตภาคกลาง เพื่อ “พลิกโฉมคุณภาพการศึกษาโดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21” ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบไปสู่การสร้างผู้เรียนให้เป็นนวัตกร อันเป็นกิจกรรมสำคัญของการอบรมครูตามโครงการพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning
สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (1 อําเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ)ระดับประถมศึกษา โดยแบ่งสถานที่อบรมเป็น 3 จุด ได้แก่ สพป.พิจิตร เขต 1 โรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก “ราษฎร์อุทิศ” สพป.พิจิตร เขต 2 และ สพป.นครสวรรค์ เขต 2 โดยมีครูเข้ารับการอบรมรวมทั้งสิ้น 468 คน เพื่อสร้างต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา
โดย นายวิวัฒน์ ผลประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)พิจิตร เขต 2 กล่าวว่า การจัดอบรมครั้งนี้จะช่วยให้โรงเรียนคุณภาพสามารถนำวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ไปใช้กับเด็ก เชื่อว่าจะส่งผลให้นักเรียนสามารถสร้างนวัตกรรมได้ด้วยตนเอง สามารถนำไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ และเชื่อด้วยว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และการทดสอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบความสามาถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ ( National Test : NT) การทดสอบเพื่อประเมินความสามารถในการอ่าน (Reading Test : RT) และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-net) ของโรงเรียนจะสูงขึ้นด้วย เพราะครูจะสามารถนำการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ได้จากการอบรมไปบูรณาการได้กับทุกกลุ่มสาระ ทำให้นักเรียนลดเวลาในการเรียนรู้ และส่งเสริมให้ครูมีกระบวนการเรียนการสอนที่หลากหลาย ซึ่งผลสุดท้ายก็จะลงที่ตัวเด็ก
“การเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นการเรียนรู้ที่กระตุ้นความคิดของเด็กเป็นหลักและเป็นการเรียนรู้ที่เปิดให้เด็กมีสละในการลงมือกระทำด้วยตนเองเพราะฉะนั้นถ้าเด็กสามารถเรียนรู้จากการกระทำของตนเองก็จะทำให้เขามีความสุขในการเรียนรู้ได้และยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดความอยากที่จะเรียนรู้ซึ่งเป็นการฝึกความคิดของสมองในการทำงานร่วมกับร่างกายของเด็กได้เป็นอย่างดีซึ่งจะส่งผลให้เด็กมีความสุขที่จะได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ใหม่และเป็นการเรียนรู้ที่จะสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองซึ่งจะติดตัวเด็กไปตลอดตรงข้ามกับการ เรียนรู้ที่บังคับให้เด็กเรียน เช่น บังคับให้จำ บังคับให้สอบ ซึ่งจะส่งผลให้ทัศนคติในการเรียนรู้ของเด็ก ไม่ชอบในการเรียนรู้ต่อไป แต่ถ้าให้อิสระเด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาต้องการหรือสิ่งที่เขาชอบและให้เด็กได้ฝึกคิดฝึกปฏิบัติเป็นกระบวนการคิด กระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง ก็จะฝึกให้เด็กมีองค์ความรู้สามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองและเป็นองค์ความรู้ที่จะติดตัวเด็กไปตลอดซึ่งจะสามารถต่อยอดจนเป็นนวัตกรรมในอนาคตได้”รอง ผอ.สพป.พิจิตร เขต 2 กล่าว
ดร.บุญครอง กูลดี รอง.ผอ.สพป. พิจิตร เขต 1 กล่าวว่า ความสำคัญของการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ คือ เพื่อให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นนวัตกรที่จะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างสรรค์ Soft Power ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาในการเปลี่ยนรูปแบบวิธีการจัดการเรียนการสอน ถ้าเป็นครูรุ่นเก่าอาจจะมีปัญหาในเรื่องของการใช้เทคโนโลยี แต่คิดว่าปัจจุบันครูของเราเป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อในการจัดการเรียนการสอนได้ดี ขณะเดียวกันตัวเด็กเองก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับการเรียนการสอนด้วย Active Learning ซึ่งทางสำนักงานเขตพื้นที่ฯก็ได้มีนโยบายให้โรงเรียนสร้างความตระหนักและมีความจริงจังในการขับเคลื่อนการจัดการการศึกษาของเราไปสู่เป้าหมาย
ดังนั้น การจัดอบรมนี้ถือว่าตอบโจทย์นโยบายรัฐมนตรีได้เป็นอย่างดี เพราะการใช้ Active Learning ในการจัดกระบวนการเรียนรู้จะทำให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ และนำไปสู่ทักษะที่จะใช้ในชีวิตจริงของเขา และงานการเรียนการสอนเด็กจะสามารถหาองค์ความรู้ได้อย่างหลากหลายด้วย
ดร.ทยุทธ์ สาลีจันทร์ ผอ.โรงเรียนอนุบาลตะพานหิน(วังสำโรง) สพป. พิจิตร เขต 2 กล่าวว่า คิดว่าการเรียนรู้แบบ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เป็นกระบวนการที่จะกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ความคิดเป็นอันดับแรก และเมื่อเด็กได้ฝึกฝนในการใช้กระบวนความคิดแล้วก็จะสามารถใช้ความคิดนั้นในการเรียน และสามารถสร้างนวัตกรรมชิ้นงานได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นความรู้ที่ติดตัวเด็กไปและยังสามารถไปต่อยอดในเรื่องของการทำงาน การเรียนหรือในชีวิตประจำวันได้
“จากนโยบายของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในเรื่องของการจัดการเรียนรู้โดยเน้นแบบ Active Learning ผมเชื่อว่า จะส่งผลให้ผู้เรียนทุกคนสามารถฝึกระบบการคิดได้ และสามารถเรียนรู้ต่อยอดตามกระบวนการคิดของตัวเอง เน้นการลงมือปฏิบัติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ในระดับนโยบายของสถานศึกษา โดยผู้บริหารจะต้องขับเคลื่อนหลักสูตรที่เน้นในเรื่องของแบบ Active Learning โดยใช้ GPAS 5 Steps เข้ามาร่วมในการจัดการเรียนการสอนทุกวิชาเมื่อผู้บริหารกำหนดหลักสูตรที่เน้นการเรียนการสอนแบบ Active Learning แล้ว ก็จะส่งผลต่อครูที่อยู่ในโรงเรียนจะต้องปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนเป็นแบบ Active Learning ตามมาด้วย ซึ่งสุดท้ายจะเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนเพราะเขาจะสามารถเป็นเด็กที่ใช้กระบวนการคิดได้อย่างเป็นระบบ และสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างสอดคล้องกับนโยบาย Soft Power ได้ด้วย”ดร.ทยุทธ์ กล่าวและว่า เพราะฉะนั้นคิดว่าตอนนี้เรามาถูกทางแล้ว เพราะนโยบายนี้สอดคล้องกับกระบวนการทางสมองของเด็กในการพัฒนาเรื่องของการสร้างนวัตกรรม และส่งเสริมให้เด็กเป็นนวัตกรที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศได้
นายกิติศักดิ์ ปัญโญ ครูชำนาญการ โรงเรียนวัดคลองโนน สพป.พิจิตร เขต 1 กล่าวว่า ในความคิดของตนคนรุ่นใหม่และ Active Learning เป็นของคู่กันเพราะกระบวนการเรียนรู้แบบเดิม ๆ สิ่งที่เด็กพบเห็นมาไม่ค่อยตอบโจทย์ในการเรียนรู้ในยุคนี้ เพราะฉะนั้นการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะจะเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับเด็ก โดยสิ่งสำคัญสุด คือ เรื่องของทักษะของครูที่เคยชินและคุ้นชินก่อนได้รับการพัฒนา เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสที่ครูสามารถพัฒนาตนเองด้วยการเรียนรู้ด้วยกระบวนการสอนใหม่ ๆ ก็น่าจะส่งเสริมศักยภาพของครูได้ รวมถึงความจริงจังและต่อเนื่องของนโยบายก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าขับเคลื่อนแบบจริงจังและต่อเนื่องน่าจะไปได้ในเวลาสองปีตามที่รัฐมนตรีวางเป้าหมายไว้
นายวุฒิศักดิ์ คำมา ครูชำนาญการ โรงเรียนเนินหัวโล้ หนองยางพิทยาคม สพป.พิจิตร เขต 1 กล่าวว่า การเรียนรู้แบบ Active Learning มีความสำคัญสำหรับการจัดการเรียนรู้ในยุคสมัยปัจจุบัน เนื่องจากสมัยปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องการจัดการเรียนรู้ที่เป็น Active Learning และให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติได้ร่วมคิดเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้และการจัดการศึกษาของประเทศไทย และส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนากระบวนการการเรียนรู้ก็คือทักษะของครูที่ควรมีทักษะในการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ๆ แม้แต่การคืนครูสู่ห้องเรียนให้ครูได้มีเวลาอยู่กับเด็กจริง ๆ เพื่อให้ครูสามารถซึมซับผู้เรียนได้ว่า เด็ก ๆ ต้องการอะไร ต้องการเรียนรู้อะไร ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทั้งนี้เชื่อว่าในเวลาสองปีนี้การปรับวิธีการจัดการเรียนการสอนให้เป็นแบบ Active Learning ทั้งระบบจะเป็นไปได้แน่นอน เพื่อครูไทยมีศักยภาพ
ด้านนายสายัณห์ สีคง รองผอ.สพป.นครสวรรค์ เขต 2 กล่าวว่า กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยเทคนิค GPAS 5 Steps จะทำให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง และสามารถนำความรู้ไปใช้ทำประโยชน์ได้ ซึ่งจะทำให้การศึกษามีความแข็งแกร่ง เกิดประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติในอนาคต
อย่างไรก็ตามคิดว่าโครงการอบรมลักษณะนี้ถ้าจะให้เกิดความยั่งยืนก็สมควรจะทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะถ้าทำให้ครบทุกระดับการศึกษาก็จะมีประโยชน์อย่างมาก เพราะโลกทุกวันนี้ความรู้เปลี่ยน วิธีการเปลี่ยน ครูก็ต้องได้รับความรู้ที่ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงจะได้สามารถนำความรู้ไปพัฒนาเด็กเพื่อพัฒนาการศึกษาต่อไป
“กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เมื่อเด็กได้ลงมือทำ ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองจะสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นระบบ ระเบียบ สามารถนำไปต่อยอดใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ในการทำงานได้แน่นอน โครงการนี้สอดคล้องกับนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กนักเรียนให้มีความรู้ ความสามารถ คิดเป็น ทำเป็น สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน สร้างสังคมและประเทศชาติให้อยู่ดีมีสุขได้ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”เพราะฉะนั้นผมก็อยากจะให้โครงการนี้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้เกิดความสุมบูรณ์ของการศึกษาไทย”รอง ผอ.สพป.นครสวรรค์ เขต 2 กล่าว
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS