กรมอนามัย ชี้ ภายหลังโควิดเข้าสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ยังคงต้องมีมาตรการด้านสธ. เหตุยังมี พระราชบัญญัติการสาธารณสุข และกฎหมายอื่นที่ใช้ในการควบคุมกำกับสถานประกอบการ
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรงนั้น การป้องกันโรคได้ดำเนินการควบคุมภายใต้พระราชกำหนดฉุกเฉิน พระราชบัญญัติโรคติดต่อ และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยมาตรการสำคัญสำหรับองค์กรคือ COVID Free Setting ที่ครอบคลุมทุกสถานประกอบการที่ส่งผลต่อสังคม การดำรงชีวิต และภาพรวมด้านเศรษฐกิจของประเทศ
ซึ่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 นี้ ที่ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มาตรการควบคุมที่คุมเข้มได้มีการผ่อนคลายเพิ่มมากขึ้น ยังคงไว้เฉพาะพระราชบัญญัติการสาธารณสุข และกฎหมายอื่นที่ใช้ในการควบคุมกำกับสถานประกอบการต่าง ๆ เช่น ที่สะสมอาหาร สถานที่จำหน่ายอาหาร รวมทั้ง 142 ประเภทกิจการ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ให้มีการปฏิบัติโดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์และข้อกำหนดที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 รวมทั้งกฎหมายอื่นที่ใช้กำกับ เช่น ข้อบังคับท้องถิ่นที่มอบอำนาจให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น กำกับ ดูแล และติดตาม ในการป้องกันและเฝ้าระวังโรคในระดับพื้นที่
มาตรฐานด้านสุขอนามัย สุขาภิบาล และอนามัยสิ่งแวดล้อมที่สถานประกอบกิจการควรปฏิบัติ แบ่งเป็น
1) ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม อาทิ การทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม การจัดสถานที่ ให้มีการระบายอากาศภายใน จัดให้มีอุปกรณ์ล้างมืออย่างเพียงพอ
2) ด้านพนักงาน และผู้ปฏิบัติงาน อาทิ มีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี มีการคัดกรองอาการป่วยของพนักงาน เข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ หากป่วย ควรหยุดปฏิบัติงาน กรณีสถานที่จำหน่ายอาหาร พนักงานสวมหน้ากากขณะให้บริการ และผ่านการอบรมมาตรฐานของผู้สัมผัสอาหาร
3) ด้านประชาชนที่เข้ารับบริการ หากเป็นผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจ และมีความจำเป็นต้องออกจากที่พัก ให้สวมหน้ากาก ส่วนประชาชนทั่วไป แนะนำให้สวมหน้ากาก เมื่อเข้าไปในสถานที่ที่ผู้คนแออัด หรือพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท ล้างมือบ่อย ๆ เมื่อมีการสัมผัสอุปกรณ์ สิ่งของ พื้นผิวที่สัมผัสร่วมกัน รวมทั้งตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วยและสงสัย ตามความจำเป็น ไม่แนะนำให้ตรวจ ATK ในประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอาการป่วย
#เพื่อไม่พลาดข่าวสาร เรื่องราวสำคัญ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS