อ.เจษฎา ให้ความรู้ภาวะเป็นพิษจากเมทานอล แนะ จุดสังเกตอาการไม่ดี พร้อมวิธีปฐมพยาบาลขั้นต้น
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีดังกล่าวว่า ระบุว่า
“ห้ามนำเอา เมทานอล มาดื่มกินเด็ดขาดครับ … ถึงตายได้”
จากข่าวน่ากลัวที่มีคนป่วยจากการ “ดื่มสุราเถื่อน ผสมเมทานอล” ในพื้นที่เขตคลองสามวาและมีนบุรี กรุงเทพฯ จนทำให้ร่างกายเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ป่วยรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เป็นจำนวนมาก และมีกระทั่งผู้เสียชีวิต
เรื่องนี้ แสดงว่า ยังมีคนที่ไม่รู้ถึงอันตรายจากการดื่มกิน “เมทานอล” เข้าไป จึงมีการแอบลักลอบนำมาทำเป็นสุราบริโภคกัน แทนที่จะเป็น “เอทานอล” ที่บริโภคได้ ทำให้เกิดเป็นอันตรายร้ายแรงขึ้น ดังเช่นในข่าว นะครับ
เรามาทำความรู้จักกับ “ภาวะเป็นพิษจากเมทานอล” กันหน่อยนะครับ
-เมทานอล (methanol) หรือเมทิลแอลกอฮอล์ เป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่เป็นพิษต่อร่างกาย ปรกติจะใช้เป็นตัวทำละลาย ในอุตสาหกรรม ไม่สามารถนำมาดื่มกินได้แบบ เอทานอล (ethanol) หรือเอทิลแอลกอฮอล์ ที่ใช้ทำเหล้าสุรา .. แต่ก็พบการลับลอบนำเอาเมทานอลมาทำเครื่องดื่ม หรือแอลกอฮอล์ทำความสะอาด เพราะเมทานอลมีราคาถูกกว่าเอทานอล หากนำทั้ง 2 สารมาผสมกัน จะทำให้ลดต้นทุนในการผลิตได้
-สำหรับ “ภาวะเป็นพิษจากเมทานอล” นั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการดื่มสุราปลอมหรือเหล้าเถื่อนต้มกันเอง ที่มีเมทานอลปนเปื้อนอยู่ หรือตั้งใจใช้แทนเอทานอลที่มีราคาสูงกว่าแต่บริโภคได้ และอาจส่งผลรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลว ภาวะมีความเป็นกรดในเลือดสูงอย่างรุนแรง และเสียชีวิตได้
-ถ้าผู้ป่วยได้รับเมทานอลเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ประมาณ 95% จะถูกกำจัดที่ตับได้ด้วยเอนไซม์แอลกอฮอล์ดีไฮโดรจีเนส (alcohol dehydrogenase) เปลี่ยนเมทานอลเป็นฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) แล้วถูกเปลี่ยนต่อเป็นกรดฟอร์มิก (formic acid) โดยเอนไซม์อัลดีไฮด์ ดีไฮโดรจีเนส (aldehyde dehydrogenase) แล้วร่างกายจะเปลี่ยนกรดฟอร์มิกเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งถูกกำจัดทางปอด
-แต่เนื่องจากร่างกายสามารถกำจัดเมทานอล ได้แย่กว่าเอทานอลถึง 10 เท่า อาการของภาวะเป็นพิษจากเมทานอลจึงเกิดขึ้นจากการที่กรดฟอร์มิกเกิดสะสมในร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญ (metabolic acidosis) และอาการพิษทางดวงตา (ocular toxicity)
-หลังได้รับเมทานอล ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงถึง 3 วัน อาจมีอาการของทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้อง เกิดอาการพิษทางตา ตาพร่า ตามัว แพ้แสง เห็นภาพขาวจ้าไปหมด ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการโคม่าและชัก
-และถ้าได้รับเมทานอลเป็นปริมาณสูงมากและรักษาไม่ทัน ผู้ป่วยมักเสียชีวิต
-จุดสังเกตสำคัญคือ หากดื่มสุราที่สงสัยเข้าไปสักระยะหนึ่งแล้ว เกิดมีอาการวิงเวียนศีรษะ อาเจียน ตาพร่ามัวและมองไม่เห็น ให้รีบเข้าพบแพทย์โดยทันที (แตกต่างจากการมึนเมาแอลกอฮอล์ตามปรกติ ซึ่งจะเริ่มมีอาการในช่วงที่ดื่ม)
-การรักษาพยาบาลขั้นต้น คือการประคับประคองผู้ป่วยเรื่องการหายใจ .. ถ้าพบผู้ป่วยที่เพิ่งดื่มสุราที่มีเมทานอลมาไม่นาน อาจจะช่วยด้วยการทำให้อาเจียน แล้วส่งแพทย์โดยด่วน
แถมเรื่องวิธีการทดสอบต่างๆ ที่เคยรวบรวมไว้สมัยโรคโควิด-19 ระบาด ว่าเราจะสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ ว่า แอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อโรค ที่ซื้อมานั้น เป็น เอทอนอล (ไม่อันตราย) หรือเป็นของปลอม ที่เป็นเมทานอล (ที่อันตราย) ? มีดังนี้
1.วิธีที่แม่นยำที่สุดคือ “การนำไปวัดจุดเดือด” ด้วยการใส่ในภาชนะทางเคมี ตั้งไฟ แล้วใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิเมื่อถึงจุดเดือด … เอทานอล จะมีจุดเดือดประมาณ 78 องศาเซลเซียส ขณะที่ เมทานอล จะมีจุดเดือดประมาณ 65 องศา
2.วิธีที่ง่ายแต่ไม่แม่นยำ คือการดมกลิ่น … เอทานอลจะมีกลิ่นแบบแอลกอฮอล์ ที่แรงกว่าเมทานอลมาก แต่เมทานอลจะดมแล้วแสบจมูกมากกว่า (อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ต้องระวัง อย่าสูดดมเข้าไปมากเกินไป เพราะจะเป็นพิษต่อร่างกายได้)
3.ทำปฏิกิริยาไอโอโดฟอร์ม iodoform reaction โดยการเอาตัวอย่างแอลกอฮอล์นั้น ใส่หลอดทดลอง เอาไปเติมสารละลายไอโอดีน (เช่น เบตาดีน) ผสมกับโซเดียมไฮดรอกไซด์ (ก็คือ โซดาไฟ) แช่หลอดในอ่างน้ำอุ่น เขย่าหลอด แล้วทิ้งไว้ซัก 2 นาที ..
. ถ้าเป็นเอทานอล จะมีตะกอนสีเหลืองของหมู่ไตรไอโอโดมีเทน CHI3 (triiodomethane) เกิดขึ้น ส่วนเมทานอล จะไม่มีตะกอน (ดูในภาพประกอบ) การทดลองนี้ อาจจะทำค่อนข้างยากหน่อย
4.ลองจุดไฟ ดูลักษณะสีของเปลวไฟ เปรียบเทียบกับในคลิปวิดีโอนี้ https://youtu.be/cxd_CH2NIWE ซึ่งเอทานอล(ในภาพประกอบ ด้านขวา) จะติดไฟโชติช่วงและสว่างเป็นสีเหลืองมากกว่า ขณะที่ เมทานอล (ภาพด้านซ้าย) จะติดไฟน้อยกว่า และแสงจะออกไปทางสีฟ้า
แต่ๆๆ วิธีทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ใช้ทดสอบใน “แอลกอฮอล์ที่เป็นของเหลวบริสุทธิ์” ไม่ใช่ในรูปของ สุราผสม ยาดอง หรือ เจลแอลกอฮอล์ นะครับ ซึ่งจะมีสารอื่นเข้ามาปน และทำให้ผลการทดลองผิดเพี้ยนได้
ข้อมูลจาก https://m.pantip.com/topic/33811302?
ข้อมูลเรื่อง ภาวะเป็นพิษจากเมทานอล จาก https://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/Methanol
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS