พบปัญหา Long COVID มีอาการผิดปกติต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกาย อาทิ ปัญหาด้านความคิดความจำ ระบบประสาท ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ รวมถึงปัญหาทางจิตเวช เช่น เครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า ทะลุ 436 ล้านแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,220,795 คน ตายเพิ่ม 6,364 คน รวมแล้วติดไปรวม 438,376,540 คน เสียชีวิตรวม 5,982,555 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน เกาหลีใต้ รัสเซีย ฝรั่งเศส และตุรกี
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.1 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 97.62
ในขณะที่ยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 51.72 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 41.48
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
สถานการณ์ระบาดของไทย
เมื่อวานนี้หากดูเฉพาะจำนวนติดเชื้อยืนยัน จะสูงเป็นอันดับ 17 ของโลก
แต่หากรวม ATK ด้วย จะพุ่งไปถึงอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย
งานวิจัยจากเดนมาร์กเรื่องปัญหา Long COVID
Sorensen AIV และทีมวิจัยจากประเทศเดนมาร์ก เผยแพร่ผลการศึกษาใน medRxiv เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2565
ศึกษาในเดือนกันยายน 2563 ถึงเมษายน 2564 ในกลุ่มประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 152,880 คน โดยเปรียบเทียบกลุ่มที่มีประวัติตรวจพบว่าติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 61,002 คน และกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อจำนวน 91,878 คน โดยทำการสำรวจ ณ 6, 9, 12 เดือนหลังจากที่ทราบผลการตรวจ
พบว่า หลังจากติดเชื้อมาแล้ว 6-12 เดือน ผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ราวหนึ่งในสามจะมีปัญหา Long COVID โดยมีอาการผิดปกติต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกาย อาทิ ปัญหาด้านความคิดความจำ ระบบประสาท ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ รวมถึงปัญหาทางจิตเวช เช่น เครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ
ทั้งนี้มีถึง 53.1% ของคนที่เคยติดเชื้อ จะมีปัญหาด้านสมาธิ การนอนหลับ หรือการอ่อนเพลียอ่อนล้าง่าย ซึ่งมากกว่ากลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อถึง 5 เท่า
รายงานนี้ชี้ให้เห็นว่า ในระดับประเทศ ซึ่งมีจำนวนการติดเชื้อมาก ปัญหา Long COVID หรือ Post-acute symptoms นี้จะเป็นผลกระทบสำคัญที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากการติดเชื้อ ทั้งต่อตัวคนที่เป็น และต่อประเทศ
หากจำกันได้ มีงานวิจัยก่อนหน้านี้จำนวนมากที่ชี้ให้เห็นผลกระทบของ Long COVID เช่น งานวิจัยในอเมริกาที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่สูงขึ้นหลายเท่าหลังติดเชื้อมา 12 เดือน
ดังนั้นไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น
หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน และแจ้งคนที่เกี่ยวข้องทั้งที่บ้านที่เรียนที่ทำงาน แล้วไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน
สำหรับประเทศไทย เรามีคนติดเชื้อไปแล้วจำนวนมาก ย้ำอีกครั้งว่าปัญหา Long COVID จะเป็นผลกระทบสำคัญที่จะตามมาได้ในอนาคตอันใกล้ ทั้งต่อคนที่เป็น ครอบครัว และสังคม
ขอให้ป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด
อ้างอิง
Sorensen AIV et al. Post-acute symptoms, new onset diagnoses and health problems 6 to 12 months after SARS-CoV-2 infection: a nationwide questionnaire study in the adult Danish population. medRxiv. 28 February 2022