ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คาด โควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ส่อครองพื้นที่ในไทย ปลาย เดือนสิงหาคม หรือ ต้น กันยายนนี้
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ในประเทศแถบยุโรป จากฐานข้อมูลโควิด-19 โลก หรือ GISAID พบตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากจนมีนัยสำคัญ ขณะที่อัตราการเสียชีวิตยังคงที่ สำหรับประเทศไทย เชื่อว่าประมาณปลายเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายนนี้ เชื้อโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ก็คงครองพื้นที่เช่นกัน
จากข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวและอัปโหลดแชร์ไว้บน GISAID สัดส่วนโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ระบาดในไทยช่วง 18 วันที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 7-24 มิ.ย. 2565 พบเป็น BA.2 จำนวน 23 ราย คิดเป็น 28.4% BA.4 จำนวน 11 ราย คิดเป็น 13.6% และ BA.5 จำนวน 18 ราย คิดเป็น 22.2% BA.2.12.1 จำนวน 8 ราย คิดเป็น 9.9% และอื่นๆ จำนวน 21 ราย คิดเป็น 25.9% เปรียบเทียบก่อนหน้านี้เห็นชัดว่า BA.4 และ BA.5 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นแต่ไม่ชันมาก
ส่วนกรณี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากกลับจากไปประชุมในต่างประเทศนั้น เท่าที่ประเมินจากอาการ และยังได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 6 ไปแล้ว อีกทั้งเป็นการติดเชื้อจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอน BA.4 และ BA.5 เป็นอันดับต้น ๆ รองจากโปรตุเกส ก็คงติดเชื้อสายพันธุ์ BA.4 หรือ BA.5 เช่นกัน