Connect with us

News

“ชัยชนะจะสมปอง ต้องต่อสู้” ทบทวนเส้นทางการต่อสู้ตลอด 4 ปี

Published

on

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 เวลาประมาณ 08.00 น. ประชาชนชาวอมก๋อยและกะเบอะดิน เดินรณรงค์จากสนามเทศบาลไปยังหอประชุมอมก๋อย คัดค้านเหมืองแร่อมก๋อย ทบทวนเส้นทางการต่อสู้ตลอด 4 ปี ในงาน “ชัยชนะจะสมปอง ต้องต่อสู้ : 4 ปี แห่งการไม่สยบยอมให้อมก๋อยกลายเป็นเหมืองถ่านหิน”

ในขบวนมีการถือป้ายผ้าเขียนข้อความคัดค้านเหมือง อย่าง หยุดสร้างอิทธิพลเถอะ, ไอ้เราก็อยู่ที่นี่ก่อนซะด้วยทีนี้ก็ว้าวุ่นเลย, STOP MINE ฯลฯ โดยตัวแทนชาวอมก๋อยได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องของชุมชนต่อการคัดค้านเหมืองในพื้นที่กะเบอะดินผ่านนายอำเภออมก๋อย เพื่อเสนอไปถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน

เวลาประมาณ 13.00 น. ประชาชนชาวอมก๋อยและกะเบอะดินร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และประกาศเจตนารมณ์คนอมก๋อย “ไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน”

สุมิตรชัย หัตถสาร ตัวแทนนักกฎหมาย CPCR กล่าวว่า การที่อมก๋อยตื่นตัวอมก๋อย 4 ปีที่ผ่านมา เราใช้เวลา 2 ปี ที่จะทำข้อมูล และค้นพบว่ารัฐมีกระบวนการหลายอย่างที่ไม่ตรงกัน กระบวนการทำ EIA ไม่มีความชอบธรรม เช่น พี่น้องในพื้นที่ถูกหลอก มีการปลอมแปลงรายชื่อ เป็นหนึ่งในการฟ้องร้องคดีจนชนะและศาลมีคำสั่งให้คุ้มครอง เราต่อสู้มา 4 ปี แต่ก็ยังจะต้องดำเนินการต่อไป เพราะไม่สามารถแน่ใจได้ว่าจะมีไม่มีบริษัทอื่นมาขอประทานบัตรสร้างเหมืองอีก

“เราจะไม่เรียกร้องเฉพาะการขอประทานบัตร แต่เราจะยกเลิกแหล่งถ่านหินไม่ให้ใครขอประทานบัตรได้อีก รัฐไม่เคยรักษาคำมั่นสัญญาต่อนานาชาติ แม้กระทั่งประชาชนในประเทศเองก็ตามจึงนำมาสู่การเรียกร้องสิทธิในวันนี้” สุมิตรชัยกล่าว

ฮานาเอะ ฮันซาว่า เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน UNOHCHR กล่าวว่า เรื่องชนพื้นเมืองถูกระบุอยู่ในกลไกว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แม้ว่าประเทศ ไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ในสหประชาชาติเราเรียก “ชนเผ่าพื้นเมือง” ด้วยคำนี้ แต่การที่ประเทศไทยไปลงนาม ข้อตกลง รับรองระหว่างประเทศ ต่าง ๆ นั้นหมายความว่า ประเทศไทยจะต้องทำตามและยอมรับรับรองเรื่องนี้ ในโลกใบนี้มีกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนทั้งหมด 9 ฉบับ และประเทศไทย รับมาใช้มากกว่า 7 ฉบับ พร้อมกับกล่าวว่า

“ซึ่งประเทศไทยรับมาด้วยความสมัครใจ ในฉบับแรกมีการพูดถึงสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย การศึกษา และเสรีภาพทางวัฒนธรรม ฉบับสองคือเสรีภาพในการแสดงออก ในการชุมนุมเป็นสิทธิพื้นฐาน นอกจากนี้ยังมีอนุสัญญาในการต่อต้านการทรมาน ดังนั้นสัญญาที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรงคืออนุสัญญาในการไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และการไม่ละเมิดให้คนสูญหาย แต่ยังไม่เป็นผลบังคับใช้ ดังนั้นเราต้องเคลื่อนต่อไป สิทธิทางวัฒนธรรม จะต้องไม่ถูกละเมิด หรือถูกทำให้เป็นอาชญากรรม ในกลไกกฎหมายของประเทศ เพราะคนชนพื้นเมืองคือผู้ปกป้องรักษาธรรมชาติ”

ด้านพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตัวแทนนักการเมือง พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ชีวิตคนอมก๋อยจะดีแค่ไหนถ้าได้รัฐบาลที่เข้าใจสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับทุกคน ที่นี่ต้องการรัฐที่เข้าใจอยู่สามอย่าง อย่างแรกคือถ่านหินล้าสมัยไปแล้ว เขาเลิกใช้ไปแล้ว การที่จะทำให้คนลืมตาอ้าปาก เราต้องใช้พลังงานสะอาดได้แล้ว รัฐบาลต้องกล้าประกาศแล้วว่า เราจะเลิกใช้ถ่านหินในอีก 12 ปีข้างหน้าอย่างน้อยที่สุดประเทศไทยต้องปราศจากถ่านหิน รัฐไทยต้องกล้าประกาศแล้วใช้พลังงานสะอาดมากกว่า 50 % ในอีก 10 กว่าปีข้างหน้าเราต้องทำให้ได้ย่างคอสตาริกา เปรู ที่ใช้พลังงานสะอาดกว่า 70 %

“สองรัฐต้องเข้าใจคำว่าเศรษฐกิจชาติพันธุ์ ที่สหประชาชาติเสนอ “เหล้าดาวดอย” ของพี่น้องทุกคน หรือเหล้าข้าวโพดของพี่น้องชาวม้ง ก็เป็นสิ่งที่ขาวโกลสามารถซึมซับได้ และพี่น้องชาติพันธุ์ คนที่อยู่ในพื้นที่ต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ถ้ามีการใช้ทรัพยากรที่อยู่ใต้ดิน ถ้าคุณจะเอามาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพราะพวกเขาต้องเป็นคนที่มีส่วนได้ ไม่ใช่มีแต่ส่วนเสีย ดังนั้นคำนี้ต้องอยู่ในหัวของรัฐบาล สามคือเรื่องการกระจายอำนาจ ไม่ใช่แค่ใครอยู่ในเขตป่าไม้เขต หรือนิยามแล้ว แต่คือการกระจายอำนาจให้กับคนที่อยู่ในพื้นที่ คนที่อยู่อมก๋อย รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร  เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือ พอปัญหาส่วนกลางให้ภารกิจมา แต่ไม่มีงบประมาณ ไม่มีบุคลากรมาให้ เพราะฉะนั้น เข้าถึงที่ดิน แก้ไขปัญหาเหมือง สิทธิมนุษยชนกับทรัพยากร ประชาธิปไตยในพลังงาน เศรษฐกิจชาติพันธุ์ การกระจายอำนาจ หกคำนี้ถ้าพี่น้องเห็นด้วย และคิดว่าคนที่จะมาเป็นรัฐมนตริต่อไปต้องรับเอาไปใช้” พิธากล่าว

อย่าลืมกดติดตาม Tojo News เพื่อพบกับข่าวสาร และบทความใหม่ ๆ จากเรา

Line Today TOJO NEWS , ToJoNews

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: