ภาพโดย Simone Padovani/Awakening | Getty Images ลิขสิทธิ์ : 2017
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ราชบัณฑิตยสภาแห่งสวีเดน ประกาศชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล
สาขาวรรณกรรม ประจำปี 2021 ซึ่งได้แก่ อับดุลราซัค กูร์นาห์ นักเขียนชาวแทนซาเนีย
เป็นผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปีนี้ จากผลงานการถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ลี้ภัย
ผลกระทบจากการล่าอาณานิมคมของเหล่าจักรวรรดินิยมตะวันตก ได้อย่างลึกซึ้ง
กูร์นาห์ กลายเป็นคนผิวดำคนแรกในรอบกว่า 30 ปี ที่คว้ารางวัลโนเบลไปครอง
อับดุลราซัค กูร์นาห์ เกิดเมื่อ20 ธันวาคม ปี ค.ศ. 1948 ที่หมู่เกาะแซนซิบาร์ของแทนซาเนีย
ในสมัยที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ก่อนที่ต่อมา จะอพยพ ลี้ภัยมาตั้งรกรากที่อังกฤษในช่วงปี 1960
ทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสือ โดยเน้นที่วรรณกรรมอังกฤษและวรรณกรรมหลังยุคอาณานิคม
อยู่ที่มหาวิทยาลัยเคนท์ แห่งแคนเทอเบอร์รี่ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ
จนกระทั่งเพิ่งเกษียณอายุเมื่อไม่นานมานี้
อับดุลราซัค กูร์นาห์ เริ่มเขียนหนังสือเมื่ออายุ 21 ปี โดยเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ซึงเป็นภาษาที่สอง
กูร์นาห์ มีผลงานนวนิยาย ที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว 10 เรื่อง และเรื่องสั้นอีกจำนวนหนึ่ง
เนื้อหาในงานเขียนส่วนใหญ่ เป็นเรื่องราวชีวิตและชะตากรรมของผู้อพยพ ที่ต้องจากถิ่นฐานบ้านเกิด
ผลงานที่มีชื่อเสียงของเขาคือ นวนิยายเรื่อง “Paradise” ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2537
เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ชีวิตของเด็กชายผู้เติบโตขึ้นในแทนซาเนียในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
หนังสือเล่มนี้ได้เข้าชิงรางวัล Booker Prize
ผลงานล่าสุดที่ได้รับการยกย่องอย่างมากเรื่อง “Afterlives” ที่ตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้ว
ราชบัณฑิตยสภาแห่งสวีเดน ระบุว่า งานเขียนของกูร์นาห์ แสดงให้เห็นถึงผลกระทบ
ของการล่าอาณานิคมและชะตากรรมของผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ เมื่อต้องตกไปอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมและถิ่นที่อยู่
ซึ่งแตกต่างจากถิ่นกำเนิด ได้อย่างชัดเจน
ในโอกาสที่ อับดุลราซัค กูร์นาห์ คว้ารางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม
จะได้รับเงินรางวัล 10 ล้านโครนา สวีเดน (ราวๆ 38.46 ล้านบาท) ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ เหรียญรางวัลโนเบล
และเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ ในวันที่ 10 ธันวาคม 2564 นี้
ที่กรุงสตอกโฮล์ม ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเสียชีวิตของ นายอัลเฟรด โนเบล เจ้าของชื่อรางวัลโนเบล
ข้อมูลจาก
Abdulrazak Gurnah – Wikipedia
You must be logged in to post a comment Login