ย้ำ !!! ขอความร่วมมือผู้ไปเยือน มีจิตสำนึกท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ไม่ปีนขึ้นต้นหรือเหยียบย่ำบริเวณรากและโคนต้นไม้
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา นายปฏิยุทธ์ บูรพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้ตราด ได้เปิดเผยถึงกรณีต้นตะบัน บนเกาะขายหัวเราะ ตำบลเกาะหมาก อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ว่า ต้นตะบันดังกล่าวมีลักษณะพิเศษ จนกลายเป็นจุดเด่นทางการท่องเที่ยวอีกแห่ง ของจังหวัดตราด
จากตรวจสอบสภาพของต้นตะบันครั้งล่าสุดพบว่า ต้นตะบัน บนเกาะขายหัวเราะ บางส่วนมีความทรุดโทรม จากการที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวบางส่วน ขึ้นไปเหยียบกิ่ง เหยียบราก ของต้นตะบัน เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ไม้ต้นดังกล่าวทรุดโทรม
ทั้งนี้การดูแลรักษาต้นตะบันนั้น ไม่สามารถดูแลรักษาแบบปกติได้ ต้องให้เจ้าหน้าที่รุกขกร ติดตามตรวจสอบทั้งโรค ทั้งแมลง รวมไปถึงให้ปุ๋ยทางใบช่วยฟื้นฟู เป็นบางครั้ง
ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้ตราด กล่าวต่อไปอีกว่า กรณีที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่า ต้นตะบัน จะหักโค่นในอนาคตนั้น ตอนนี้เท่าที่ดูจากสภาพแล้ว คงยังไม่ถึงขนาดที่ต้นตะบันจะหักโค่น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวเกาะขายหัวเราะ ต้องช่วยกันอนุรักษ์และรักษาต้นตะบันด้วย ซึ่งนี้เป็นสิ่งพิเศษของจังหวัดตราด ให้อยู่คู่กับชาวตราดตลอดไป ส่วนการออกกฎบังคับ ออกข้อห้ามอย่างเป็นทางการนั้น คงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะทุกอย่างอยู่ที่จิตสำนึก ให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญในการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
สำหรับ เกาะขายหัวเราะ เป็นเกาะที่ยื่นออกมาในทะเลและมีต้นไม้อยู่ 1 ต้น คือ ต้นตะบัน ทำให้มีลักษณะคล้ายกับเกาะในหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ จึงได้ชื่อว่า เป็นเกาะขายหัวเราะ ในขณะที่ต้นตะบัน เป็นไม้พิเศษที่พบได้น้อยพื้นที่
จังหวัดตราด โดยเฉพาะทะเลภาคตะวันออก ซึ่งจริง ๆ แล้ว ต้นตะบัน เป็นพืชที่ขึ้นตามแนวชายฝั่ง และไม่ขึ้นในทะเล จะขึ้นบริเวณป่ารอยต่อระหว่างป่าชายเลนและป่าชายหาด แต่ด้วยความโดดเด่น ที่ต้นตะบัน ต้นนี้ ไปขึ้นบนเกาะ ที่เป็นโขดหิน ทำให้ลักษณะต้น แคระแกร็น หงิกๆงอๆ มีลักษณะเฉพาะตัวที่มีความสวยงามไปอีกแบบ
ขอบคุณข้อมูลจากประชาสัมพันธ์จังหวัดตราด