Connect with us

On this day

29 ตุลาคม วันชาติตุรกี

Published

on

ภาพจาก International Turkic Academy commemorates the great leader Mustafa Kemal Ataturk – TWESCO

เป็นวันสำคัญ เพื่อระลึกถึงวันที่มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ
เป็นระบบสาธารณรัฐ รวมทั้งย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองอังการา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2466

ประเทศตุรกี (Turkey;Türkiye ทือรคีเย) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐตุรกี
(Republic of Turkey;Türkiye Cumhuriyeti) เป็นสาธารณรัฐระบบรัฐสภาในยูเรเซีย
พื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันตก โดยมีพื้นที่ส่วนน้อยของอีสเทรซอยู่ในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้
ตุรกี มีพรมแดนติดต่อกับ 8 ประเทศ ได้แก่ ประเทศซีเรียและอิรักทางใต้ ประเทศอิหร่าน
อาร์มีเนียและดินแดนส่วนแยกนาคีชีวันของอาเซอร์ไบจานทางตะวันออก
ประเทศจอร์เจียทางตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศบัลแกเรียทางตะวันตกเฉียงเหนือ
และประเทศกรีซทางตะวันตก ทะเลดำอยู่ทางเหนือ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางใต้
และทะเลอีเจี้ยนทางตะวันตก ช่องแคบบอสฟอรัส ทะเลมาร์มะราและดาร์ดะเนลส์
(รวมกันเป็นช่องแคบตุรกี) แบ่งเขตแดนระหว่างเทรซและอานาโตเลียและแยกทวีปยุโรปกับทวีปเอเชีย

ตุรกี ในยุคจักรวรรดิออตโตมัน
ภาพจาก Republic Day (Turkey) – Wikipedia

ที่ตั้งของตุรกี ณ ทางแพร่งของยุโรปและเอเชียทำให้ตุรกีมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างยิ่ง
ประเทศตุรกีมีผู้อยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุคหินเก่า มีอารยธรรมอานาโตเลียโบราณต่าง ๆ เอโอเลีย
โดเรียและกรีกไอโอเนีย เทรซ อาร์มีเนียและเปอร์เซีย หลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช
ได้เข้าครอบครอง ดินแดนแห่งนี้ก็ถูกวัฒนธรรมของกรีกเข้ามามีอิทธิพลภายใต้จักรวรรดิโรมัน
ก่อนจะเปลี่ยนผ่านสู่จักรวรรดิไบแซนไทน์ ในภายหลัง

มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก กล่าวปราศรัยในวาระครบรอบ 10 ปีแห่งการก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี ในปี 2536
ภาพจาก Republic Day (Turkey) – Wikipedia

หลังสิ้นสุดจักรวรรดิออตโตมันเมื่อปี 2466 (สุลต่านมะห์มัดที่ 6 เป็นสุลต่านพระองค์สุดท้าย)
มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก ผู้นำขบวนการแห่งชาติตุรกี ในช่วงสงครามประกาศเอกราชของตุรกี
เอาชนะกองทหารของฝ่ายไตรภาคี และนำไปสู่การปลดปล่อยประเทศ และการก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี
เมื่อ 29 ตุลาคม 2466 โดมีนายมุสตาฟา ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรก และได้เปลี่ยนแปลงประเทศ
จากระบบของจักรวรรดิออตโตมัน เป็นรัฐชาติสมัยใหม่ ที่เป็นประชาธิปไตยและไม่อิงอำนาจศาสนาจักร

พิธีสวนสนามของทหารตุรกีในวันชาติ
ภาพจาก Republic Day (Turkey) – Wikipedia

ตุรกี เป็นสาธารณรัฐที่แยกศาสนาออกจากการเมือง (secular state) เป็นประเทศที่มีความเป็น
ประชาธิปไตยมากที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศมุสลิมอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เมื่อปี 2560 เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแบบรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบประธานาธิบดี

ขบวนพาเหรดในเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมของกองทหารเซย์แมน กองทหารยุคเซลจุกเติร์ก
ภาพจาก Republic Day (Turkey) – Wikipedia

ซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 2 รอบ
ในกรณีที่ไม่มีผู้ได้รับเลือกด้วยคะแนนเกินกว่า 50% มีวาระ 5 ปี ดำรงตำแหน่งได้ 2 สมัยติดต่อกัน
โดยยกเลิกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปัจจุบันนายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน (Recep Tayyip Erdoğan)
อดีตนายกฯ (ตั้งแต่ปี 2546-2557) และประธานาธิบดี(ส.ค.2557- มิ.ย.2561) ขึ้นดำรงตำแหน่ง
โดยชนะการเลือกตั้งเมื่อ 24 มิ.ย.2561 ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตุรกีคนแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

Turkish President Erdoğan congratulates Joe Biden on US election win |  Euronews
เรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของตุรกี ภาพจาก AP

ฝ่ายบริหาร :
ประธานาธิบดีตุรกี มีอำนาจในการบริหาร ในฐานะประมุขและหัวหน้ารัฐบาล

คณะรัฐบาลชุดแรกภายใต้การนำของเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่าสุด เมื่อปี 2560
ภาพจาก Erdogan announces first cabinet under new presidential system (trtworld.com)

ฝ่ายนิติบัญญัติ:
ตุรกีจัดการเลือกตั้งรัฐสภาภายใต้ระบอบประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกเมื่อ 24 มิ.ย.2561 มีการปรับเพิ่ม
จำนวนสมาชิกสภาแห่งชาติ (Grand National Assembly) จาก 550คน เป็น 600คน และกำหนดวาระ
การดำรงตำแหน่งจาก 4 ปี เป็น 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับการเลือกตั้งและวาระการดำรงตำแหน่ง
ของประธานาธิบดี ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป จะจัดขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2566

Political parties in search of updated road maps | | SETA
ตราประจำพรรคการเมือง ของตุรกี ในปัจจุบัน
ภาพจาก Political parties in search of updated road maps |  | SETA (setav.org)

พรรคการเมือง :
พรรคที่สำคัญ คือ
1) พรรค Justice and Development (AK)
2) พรรค Nationalist Movement Party (MHP) แนวชาตินิยม
3) พรรค Republican People’s Party (CHP)
4) พรรค İYİ Party
5) Felicity Party และ
6) พรรค Peoples’ Democratic Party (HDP) พรรคของชาวเคิร์ด

ที่ทำการศาลยุติธรรมตั้งอยู่ที่อิสตันบูล ของตุรกี ภาพจาก Istanbul Çağlayan Justice Palace – Wikipedia

ฝ่ายตุลาการ : ประกอบด้วย
1) ศาลยุติธรรมทั่วไปทำหน้าที่เช่นเดียวกับศาลชั้นต้นจะมีอยู่ในทุกเมือง
2) ศาลอุทธรณ์สำหรับคดีอาญาและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาสำหรับอุทธรณ์
คดีด้านการปกครองหรือคดีภาครัฐ และ
3) ศาลสูงสุดทำหน้าที่เช่นเดียวกับศาลฎีกา

อู่ต่อเรือเซเดฟ ในกรุงอิสตันบูล ภาพจาก Economy of Turkey – Wikipedia

ระบบเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจของตุรกี ขับเคลื่อนโดยภาคอุตสาหกรรมและการบริการเป็นหลัก แต่ภาคการเกษตร
ก็ยังมีสัดส่วนสูงถึง 25% ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19
ส่งผลให้การค้าโลกหยุดชะงักเกิดสภาวะเงินทุนไหลออก กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงในไตรมาส 2
กระทบต่อภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การเข้าถึงบริการทางการเงิน เสถียรภาพของค่าเงิน
อัตราการจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อของตุรกีโดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของตุรกี
จะหดตัวลดลง 3.8% ในปี 2563

ภาพจาก ‘Gazi Mustafa Kemal Ataturk is our nation’s red line’ (aa.com.tr)

สาธารณรัฐตุรกี ในปัจจุบัน
• เป็นประเทศมุสลิมสมัยใหม่ที่มีอุดมการณ์เปิดกว้างและใกล้ชิดกับตะวันตก
• ต่อต้านแนวทาง Fundamentalism และยึดถือหลักการ Secularism
• มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 17 และอุตสาหกรรมการก่อสร้างเป็นอันดับที่ 2 ของโลก
• เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างทวีปยุโรปและเอเชีย รับบทบาทผู้นำในกลุ่มเอเชียกลาง
• เป็นเส้นทางขนส่งน้้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญระหว่างเอเชียกลาง-ยุโรป
• เป็นประเทศมุสลิมชาติเดียวใน NATO และอยู่ระหว่างเจรจาเข้าเป็นสมาชิก EU

จุรินทร์" ปิดจ๊อบตุรกี!! ขายรวดเดียว 15,000 ล้านบาท - โพสต์ทูเดย์  ข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจ

ความสัมพันธ์ไทย-ตุรกี
มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 12 พ.ค.2501 ฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 60 ปี เมื่อปี 2561
ความสัมพันธ์ระหว่างกันโดยทั่วไปเป็นไปอย่างราบรื่น โดยตุรกีให้ความสำคัญกับไทย
ในฐานะประเทศหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสนับสนุนกลุ่มอาเซียนมาโดยตลอด
เนื่องจากมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับกลุ่มประเทศมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย
มาเลเซีย และบรูไน และเข้าเป็นคู่เจรจาเฉพาะสาขากับอาเซียนเมื่อปี 2560 ขณะที่ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่าง
การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งเปิดเจรจาครั้งแรกเมื่อ 19 ก.ค.2560 ที่อังการา ตุรกี เจรจาไปแล้ว 7 ครั้ง โดยครั้งที่ 7 เป็นการประชุมผ่านระบบทางไกล เมื่อ พ.ค.2563 เนื่องจากคณะผู้แทนไทย
ไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมการประชุมเจรจาฯ ครั้งที่ 7 ซึ่งตุรกีกำหนดจัดขึ้นในเดือน เม.ย.ได้
เนื่องจากอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายระยะเวลา
สรุปผลการเจรจาจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2563 เป็นปี 2564

ไทย – ตุรกี รุกผลักดันเจรจา FTA ชวนลงทุน EEC ในอุตสาหกรรมชั้นสูง
ภาพจาก ไทย – ตุรกี รุกผลักดันเจรจา FTA ชวนลงทุน EEC ในอุตสาหกรรมชั้นสูง (mreport.co.th)

ความสัมพันธ์ทางด้านการค้า ตุรกี ถือเป็นตลาดที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะการเป็นเป้าหมายการขยาย
ตลาดอาหารฮาลาลของไทยไปสู่สหภาพยุโรป (EU) เมื่อปี 2562 ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 36 ของไทย
ในตลาดโลก และอันดับที่ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย
และกาตาร์ มีมูลค่าการค้า 45,553.91 ล้านบาท ลดลง 0.53% โดยมูลค่าการส่งออกของไทย
อยู่ที่ 27,453.72 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 18,100.20 ล้านบาท และได้ดุลการค้า 9,353.52 ล้านบาท
สินค้าส่งออกสำคัญของไทยเช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
เส้นใยประดิษฐ์ เมล็ดพลาสติก ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง สินค้านำเข้าสำคัญของไทย เช่น
เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องประดับอัญมณี
เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ

ข้อตกลงสำคัญ ได้แก่

  • ความตกลงทางการค้าระหว่างไทย-ตุรกี ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศระหว่างไทย-ตุรกี
  • ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางราชการ
    และหนังสือเดินทางพิเศษ
  • ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-ตุรกี
  • ความตกลงทางวัฒนธรรมไทย-ตุรกี ข้อตกลงระหว่าง กต.ไทยกับ กต.ตุรกี
  • ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม
  • ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน
  • ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน
  • บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม
  • ความตกลงเพื่อความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว
  • โครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอันเป็นผลมาจากความตกลงทางวัฒนธรรมไทย-ตุรกี และ Turkish-Thai Parliamentary Friendship Group of the Turkish Grand National Assembly
  • และความตกลงเกี่ยวกับการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือด้านงานยุติธรรม
ตราไปรษณียากรที่ระลึกร่วมในโอกาส 60 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐตุรกี
ภาพจาก บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ThailandPost

ข้อมูลจาก
รู้สะเด็ด เด็ดทุกวัน | Facebook
Republic Day (Turkey) – Wikipedia
Seymen – Wikipedia
T.C. Bangkok Büyükelçiliği – Embassy of the Republic of Turkey in Bangkok | Facebook

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: