Connect with us

Education

วันที่ ๑๘ สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงวันที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ตำบลหว้ากอ

Published

on

โดยได้พระราชดำเนินทั้งทางชลมารคและสถลมารค ไปที่ตำบลหว้ากอ
เพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงซึ่งได้ทรงคำนวณพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า ๒ ปี
ว่าจะเกิดในวันอังคาร ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐

รัฐบาลไทยได้กำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อรำลึกถึง
วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคและสถลมารค ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ตำบลหว้ากอ
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้ทรงคำนวณและพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า ๒ ปี ว่าจะเกิดปรากฎการณ์ดังกล่าว
ในวันอังคาร ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ 
โดยสถานที่ ที่จะเห็นสุริยุปราคาได้เต็มหมดดวงและชัดเจนที่สุด คือ ที่หมู่บ้านหัววาฬ
ตำบลหว้ากอ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดบริเวณตั้งแต่เกาะจาน
ขึ้นไปถึงปราณบุรี และลงไปถึงจังหวัดชุมพร จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
ไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ โดยมีคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส
รวมถึงเซอร์ แฮรี่ ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์ เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมในการสังเกตการณ์
ต่อมาภายหลังจึงได้มีการสร้าง “อุทยานวิทยาศาสตร์” ขึ้นที่บ้านหว้ากอ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ฉลองพระองค์เครื่องแบบนายทหาร ประดับดาราและสายสะพายเครื่องราชอิสรยาภรณ์
ลียองดอนเนอร์ของฝรั่งเศส ทรงถือธารพระกร และทรงเหน็บพระแสงหัตถ์นารายณ์ ซึ่งเป็นพระแสงประจำพระองค์ที่บั้นพระเอว
ภาพจาก ฉายานิทรรศน์ | Facebook

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๑๒๔๗ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีชวด 
จุลศักราช ๑๑๖๖ เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒ 
(ในขณะนั้นดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงอิศรสุนทร) 
เป็นโอรสพระองค์ที่ ๒ ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวช
ภาพจาก Mongkut in the Sangha – พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)

ระหว่างที่ทรงผนวชอยู่ในสมณเพศเป็นเวลา ๒๗ ปี ขณะที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 
รัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์ เจ้าฟ้ามงกุฎทรงมีกรณียกิจหลายด้านซึ่งเป็นประโยชน์ต่อมาในอนาคต 
ทรงศึกษาภาษามคธ (บาลี) จนสามารถแปลพระปริยัติธรรมได้อย่างแม่นยำ ทรงปฏิรูปพระพุทธศาสนา
ด้วยการตั้งคณะสงฆ์นิกายใหม่ คือ ธรรมยุติกนิกาย การเสด็จออกธุดงค์ซึ่งทำให้ทรงพบหลักศิลาจารึก

หลักศิลาจารึก ภาพจาก https://images.app.goo.gl/cd2GRKG1jQ2ycmZJ6

ทรงใช้เวลาศึกษาภาษาละตินและภาษาอังกฤษ รวมทั้งศาสตร์แขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ การเมือง วรรณคดี ปรัชญา ไปจนถึง เรขาคณิต ตรีโกณมิติ วิทยาศาสตร์ 
โดยเฉพาะดาราศาสตร์ที่ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษ หลักฐานอย่างหนึ่งที่ทรงนำความรู้เรื่องดาราศาสตร์
มาใช้กับการกำหนดวันสำคัญทางศาสนาซึ่งมีขึ้นตามปฏิทินจันทรคติ คือ พระราชาธิบายเรื่องอธิกมาส 
อธิกวาร และปักขคณนาวิธี ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการคำนวณปฏิทินจันทรคติแบบใหม่
ที่ทรงประดิษฐ์คิดค้นขึ้นด้วยพระองค์เอง มีความแม่นยำถูกต้องตรงกับดวงจันทร์บนท้องฟ้า
ยิ่งกว่าปฏิทินที่เคยมีใช้อยู่เดิม

หนังสือ Outlines of Astronomy (เค้าโครงว่าด้วยเรื่องดาราศาสตร์) โดย Sir John F.W. Herschel, Bart
ประทับตราพระมหาพิชัยมงกุฎ อันเป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามภิไธยของรัชกาลที่ 4 พร้อมด้วยตำราอื่นๆ
ซึ่งมีหน้าปกเป็นตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 4
ภาพจาก 18 สิงหาคม 2411 เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง รัชกาลที่ 4 ทรงคำนวณล่วงหน้าแม่นยำ (silpa-mag.com)

ความสนพระทัยในดาราศาสตร์มองเห็นได้จากการสั่งซื้อตำราดาราศาสตร์ กล้องโทรทรรศน์ 
และแผนที่ดาว จากต่างประเทศ เครื่องราชบรรณาการส่วนมากเป็นหนังสือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น เครื่องชั่ง ลูกโลก เทอร์โมมิเตอร์ เครื่องวัดความดันอากาศ 
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ได้ถวายกล้องโทรทรรศน์ ซึ่ง 
เซอร์ จอห์น เบาริง ราชทูตแห่งสหราชอาณาจักร ได้บันทึกว่า 
“กล้องที่นำมาถวายมีคุณภาพต่ำกว่ากล้องโทรทรรศน์ที่ทรงมีอยู่แล้ว”

เซอร์ จอห์น เบาริง ยังเขียนเล่าไว้ว่า ห้องส่วนพระองค์เป็นห้องที่มีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ 
เช่นเดียวกับห้องนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่มั่งคั่งในทวีปยุโรปสมัยนั้น หมอเหา (เฮาส์) 
ได้บันทึกรายละเอียดไว้จากที่เขาได้เข้าเฝ้าที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ว่า 
“ข้าพเจ้าได้เหลียวมองไปรอบๆ ห้อง และเห็นพระคัมภีร์ไบเบิลของสมาคม เอ. บี. 
และพจนานุกรมเวบสเตอร์ตั้งเคียงบนชั้นบนโต๊ะเขียนหนังสือ 
นอกจากนั้นยังมีตารางดาราศาสตร์และการเดินเรือวางอยู่ด้วย 
ส่วนข้างบนอีกโต๊ะหนึ่งมีแผนผังอุปราคาที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไป 
มีรายการคำนวณเขียนไว้ด้วยดินสอ นอกจากนั้นยังมีแบบลอกแผนที่ ของนายชานเดลอร์ วางอยู่ด้วย”

ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๙๔ นั้น
เป็นยุครุ่งเรืองของลัทธิจักรวรรดินิยม ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสแผ่อิทธิพลครอบคลุมประเทศต่างๆ ในแถบนี้ 
แต่สายพระเนตรที่กว้างไกลและพระปรีชาสามารถด้านภาษาและการเมืองระหว่างประเทศ 
ทำให้สยามเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รอดพ้นจากการการเข้ายึดครอง

ดาวหาง

ตลอดพระชนม์ชีพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีดาวหางหลายดวงมาปรากฏเหนือท้องฟ้า 
ที่สว่างมากมีอยู่ ๓ ดวง ดวงแรกชื่อ ดาวหางฟลูเกอร์กูส มาให้เห็นขณะมีพระชนมายุ ๘ พรรษา 
ดาวหางดวงที่ ๒ ชื่อ ดาวหางโดนาติ ค้นพบโดยนักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลียนในปี พ.ศ. ๒๔๐๑ 
มีขนาดใหญ่สวยงาม ขณะนั้นคนไทยและชาวตะวันออกยังมีความเชื่อเรื่องโชคลางและภัยพิบัติ
จากสิ่งแปลกประหลาดในท้องฟ้า โดยเฉพาะดาวหางที่เป็นเหมือนสัญญาณบอกเหตุร้าย

ทรงมีพระราชนิพนธ์ประกาศเตือนไม่ให้เกิดการแตกตื่น ชื่อว่า “ประกาศดาวหางขึ้นอย่าให้วิตก” 
ตอนหนึ่งว่า “ดาวดวงนี้ ชาวยุโรปได้เห็นมาแล้วหลายเดือน ดาวอย่างนี้มีคติแลทางที่ดำเนินยาว
ไปในท้องฟ้าไม่เหมือนดาวพระเคราะห์อื่น ดาวพระเคราะห์ทั้งปวงเป็นของสัญจรไปนานหลายปีแล้ว
ก็กลับมาได้เห็นในประเทศข้างนี้อีก เพราะเหตุนี้อย่าให้ราษฎรทั้งปวงตื่นกันแลคิดวิตกเล่าลือไปต่างๆ 
ด้วยว่ามิใช่จะได้เห็นในพระนครนี้แลเมืองที่ใกล้เคียงเท่านั้นหามิได้ 
ย่อมได้เห็นทุกบ้านทุกเมือง ทั่วพิภพอย่างได้เห็นนี้แล”
ดาวหางดวงที่ ๓ ชื่อ ดาวหางเทบบุท มาเยือนโลกในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ 
มีความสว่างมากกว่าดาวหางโดนาติเสียอีก ทรงพระราชนิพนธ์ “ประกาศดาวหางปีระกาตรีศก” 
พร้อมทั้งปัดเป่าความงมงายที่มีอยู่ในสังคม ตอนหนึ่งว่า “ผู้ใดปฏิบัติตัวไม่ดีไม่มียาที่จะแก้ป้องกัน
กินทาซึมซาบอยู่กับกาย เป็นผู้ไม่สบายมีโรคภัยเล็กน้อยที่เป็นช่องจะให้พิษเช่นนั้น 
แล่นเข้าไปในกายให้เกิดเจ็บไข้ได้ความไข้ก็ต้องแก่ผู้นั้นไม่เลือกหน้าว่าใคร 
ก็ดาวหางมาบนฟ้าโกรธขึ้งหึงษาพยาบาทอาฆาตแค้นอะไรอยู่กับเจ้านาย 
มาแล้วจะได้มาตรงใส่เอาเจ้านายทีเดียวไม่เห็นจริงด้วย”

เวลามาตรฐาน

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงพระปรีชาสามารถ
ด้านดาราศาสตร์ ภายหลังได้ทรงพินิจพิจารณาตรวจตราคำนวณการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์
จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘พระที่นั่งภูวดลทัศไนย’ ขึ้นทางด้านเหนือ
ของพระที่นั่งอนันตสมาคม (เดิม) ตรงพุทธนิเวศน์ ในเขตพระบรมมหาราชวัง
พระที่นั่งองค์นี้เป็นตึกสูง ๕ ชั้น ชั้นบนสุดติดตั้งนาฬิกาขนาดใหญ่ทั้ง ๔ ด้าน
มีพระราชประสงค์ให้ใช้เป็นหอนาฬิกาหลวง เพื่อทำหน้าที่บอกและรักษาเวลามาตรฐาน
ดังปรากฏในประกาศรัชกาลที่ ๔ ฉบับที่ ๓๐๖ พุทธศักราช ๒๔๑๑
โดยทรงกำหนดให้เส้นแวง ๑๐๐ องศา ๒๙ ลิปดา ๕๐ ฟิลิปดาตะวันออก เป็นเส้นแวงหลัก
ผ่านพระที่นั่งภูวดลทัศไนย และได้โปรดฯ ให้มีเจ้าหน้าที่
รักษาเวลามาตรฐานประจำหอนาฬิกาหลวง ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งงานทางวิทยาศาสตร์ไทยชุดแรก
คือตำแหน่ง ‘พันทิวาทิตย์’ มีหน้าที่เทียบเวลากลางวันจากดวงอาทิตย์
และตำแหน่ง ‘พันพินิตจันทรา’ ทำหน้าที่เทียบเวลากลางคืนจากดวงจันทร์
โดยสังเกตจากดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ที่เคลื่อนผ่านเมอริเดียนของสถานที่สังเกตการณ์
ของบุคคลทั้ง 2 ซึ่งก็คือพระที่นั่งภูวดลทัศไนย และจากการที่ทรงได้สังเกตดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า
มานานหลายปี ทรงพบว่าการขึ้น-ตก และแนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในเดือนต่างๆ นั้นแตกต่างกัน
ที่หอนาฬิกาหลวง จึงมีการคำนวณทางดาราศาสตร์เป็นรายวันทุกวัน เพื่อตั้งปรับเวลาที่หอนาฬิกาหลวง
ตามที่ได้คำนวณไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เป็นเวลามาตรฐานกรุงเทพปานกลาง
หรือที่เรียกว่า ‘Bangkok Mean Time’ ซึ่งเป็นเวลาที่เร็วกว่าที่กรีนิช ๖ ชั่วโมง ๔๒ นาที
ดังนั้นประเทศไทยของเราจึงมีเวลามาตรฐานเป็นของตัวเอง
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๐ และได้มีการออกพระราชกำหนดเรื่องนาฬิกาใน พ.ศ. ๒๔๑๑

นับได้ว่าประเทศไทยมีเวลามาตรฐานอย่างถูกต้องตามหลักดาราศาสตร์เป็นชนชาติแรกของโลก
เพราะ ณ เวลานั้นแม้แต่หอสังเกตการณ์หรือหอดูดาวที่กรีนิช ก็ยังไม่มีการกำหนดเวลามาตรฐาน
รัฐสภาอังกฤษเพิ่งจะมีการออกพระราชบัญญัติเวลามาตรฐานเมื่อปี ค.ศ.1880 (พ.ศ. ๒๔๒๓)
และในปี ค.ศ.1884 (พ.ศ. ๒๔๒๗) ที่นักดาราศาสตร์ ได้ตกลงกันกำหนดเส้นแวงที่ผ่านเมืองกรีนิช
เป็นเส้น 0 องศา เพื่อใช้เป็นมาตราฐานในการเทียบเวลาโลก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงกำหนดเส้นเวลามาตรฐานไว้ใช้ในบ้านเมืองของเราเอง ก่อนหน้านั้นแล้ว
เรียกกันว่า Bangkok Mean Time ซึ่งลองจิจูด 0° ของสยามตอนนั้น ก็คือ “พระที่นั่งภูวดลทัศไนย”หอนาฬิกาแห่งแรกของสยาม
ภาพจาก (20+) Chillpainai – Posts | Facebook

สุริยุปราคาเต็มดวง

เหตุการณ์ที่เป็นที่กล่าวขวัญและเป็นที่มาของวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ คือ 
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ หลักฐานจากประกาศหลายฉบับ
แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาการคำนวณเพื่อพยากรณ์ปรากฏการณ์
ทางดาราศาสตร์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสุริยุปราคา จันทรุปราคา ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ 
ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลามาก ไม่ได้คำนวณได้รวดเร็วอย่างในปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับ ณ เกยหน้าพลับพลาที่ประทับ โปรดให้ฉายพระรูปกับคณะแขกเมือง ณ ค่ายหลวงบ้านหว้ากอ
ภาพจาก วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2560 และความเป็นมาของวันวิทยาศาสตร์ 18 สิงหาคม – Bright Today (brighttv.co.th)

ทรงประกาศผลการคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ล่วงหน้า ๒ ปี และเชิญคณะสำรวจทั้งจากฝรั่งเศส อังกฤษ และสิงคโปร์ เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ ณ หว้ากอ ต.คลองวาฬ อ.เมืองฯ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 
ดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บังมิดดวงอยู่นานถึง ๖ นาที ๔๖ วินาที 

ในปัจจุบันนี้ ประชาคมดาราศาสตร์ในระดับสากลที่ศึกษาด้านสุริยุปราคา ให้การยกย่อง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเรียกปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อปี ค.ศ. 1868 
ว่าเป็นปรากฏการณ์ “King of Siam’s Eclipse”

King of Siam’s Eclipse สุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ที่ตำบลหว้ากอ
ภาพจาก ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย – สมาคมดาราศาสตร์ไทย (nectec.or.th)

ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับมาจากการทอดพระเนตร
สุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ เมืองประจวบคิรีขันธ์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ แล้วไม่นานนัก
ถึงวันที่ ๒๖ สิงหาคม พระองค์ก็เกิดอาการพระประชวรหนัก ทรงเป็นไข้จับสั่นตั้งแต่เวลาทุ่มเศษ
จนถึงเที่ยงคืน จึงไม่เสด็จออกว่าราชการตามปกติ ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ
กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ซึ่งว่าการกรมหมอ เข้าไปเฝ้าถึงในพระที่
และมีรับสั่งให้ประชุมหมอหลวงประกอบพระโอสถถวาย

แม้หมอหลวงจะถวายพระโอสถขนานๆ ต่าง ให้เสวย แต่พระอาการประชวรก็ไม่ดีขึ้นเลย
มีแต่ทรงกับทรุดเรื่อยๆ มา พระราชานุกิจและราชการน้อยใหญ่ทั้งปวง
ที่ทรงเคยปฏิบัติอยู่เป็นนิจก็ไม่อาจทำได้

ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบด้วยญาณปฎิภาณแล้วว่า
พระองค์คงจะเสด็จสวรรคตในเร็ววันนี้อย่างแน่แท้ จึงประภาษราชกิจสั่งสอนพระบรมวงศานุวงศ์
และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นหลักของแผ่นดิน รวมถึงยังพระราชทานทรัพย์สมบัติสิ่งของ
ให้แก่พระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งปวง เพื่อให้มีหลักทรัพย์ดำรงชีวิตต่อไปในอนาคตได้โดยไม่ขัดสน

จวบจนถึงเช้าวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์
เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหม และเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธ์)
สมุหนายก เข้าเฝ้า แล้วมีรับสั่งว่า

“วันนี้เป็นวันพระจันทร์เต็มดวง นักปราชญ์ทั้งหลายก็ถึงความดับเป็นอันมากในวันเพ็ญดังนี้
ควรพระชนมายุจะหมดจะดับในวันนี้เป็นแน่แล้ว ซึ่งขัดเคืองว่ากล่าวแก่ท่านทั้งหลายทั้งปวงมาแต่ก่อนนั้น
ขออโหสิกรรมกันเสียเถิดอย่าให้เป็นเวรกันต่อไป ขอฝากแต่พระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกเธอด้วย
ถ้าจะมีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ”

เมื่อพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางเหล่านั้นร้องไห้ ก็มีรับสั่งต่อว่า

“อย่าร้องไห้ ความตายไม่เป็นอัศจรรย์อะไรนัก เป็นของธรรมดา เกิดมาแล้วก็ต้องตายด้วยกันทุกคน”

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)
บันทึกเหตุการณ์วันสวรรคตไว้ดังนี้

“จึงรับสั่งให้พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภจุดเทียนชัย และห้ามมิให้ถวายพระหนทาง
แล้วก็ทรงเจริญพระกรรมฐานสมาธิภาวนานิ่ง ศีร์ษะสู่ทิศอุดร ผันพระพักตร์ต่อประจิมทิศ
พอย่ำค่ำประถมยามแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสู่สวรรคต
ตั้งแต่วันทรงพระประชวรมาจนวันสวรรคตได้ ๓๗ วัน อยู่ในราชสมบัติได้ ๑๘ พระพรรษา”

ข้อมูลจาก

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: