สำนักข่าวโตโจ้นิวส์รายงาน เรื่องราวดีๆ โดย “ดร. ศรัญญา เสนสุภา” จากเพจ Pitch 100 ล้าน By ดร. หวาน ที่มาเขียนถึงอาการ “Microphonebia” หรือ อาการกลัวไมโครโฟน ซึ่งมันไม่ใช่โรค และสามารถรักษาให้หายได้ เนื้อหาจะเป็นอย่างไรไปอ่านกันเลย…
5 วิธีเอาชนะอาการกลัวไมโครโฟน !! “Microphonebia” ไม่ใช่โรค รักษาหาย
เพื่อนคนนึงเป็นคนทำงานเก่งมาก เรียนจบต่างประเทศมาสารภาพว่าให้ทำอะไรก็ได้ แต่อย่าให้จับไมค์พูด! 😱 ได้เคยพูดเรื่องนี้หลายครั้ง และก็มีหลายคนบอกว่า “ก็อาจารย์พูดเก่งอยู่แล้ว ไม่เข้าใจหรอก ว่ามันเป็นยังไง”
จำได้ว่า ตอนเด็กๆ จะกลัวมาก ถ้าต้องออกไปพูดหน้าชั้น และเหตุการณ์ที่จำมาจนบัดนี้ แม้มันจะผ่านมา หลายสิบปี วันที่ เป็นตัวแทนของโรงเรียน
ไปประกวด โครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับประเทศ ซึ่งต้องยืนบนเวที พูดในห้อง Slope ห้องใหญ่ที่มหาวิทยาลัยที่มีคนนั่งฟังเป็นร้อยๆ คน ทั้งๆ ที่เขียนบทพูดไปทุกคำ แค่ออกไปยืนอ่านเท่านั้น ซ้อมอ่านไปหลายเที่ยวแต่พอถึงเวลาพูดจริงๆ ….. รู้สึกเหมือนคนไม่มีแรงเสียงแทบไม่ออกมา ปากแห้ง คอแห้ง หัวใจเต้นโครมคราม หน้าคงจะซีดมาก และตอนที่คณะกรรมการไปเยี่ยมที่บู๊ท และถามคำถามได้แต่อ้าปากจะพูด แต่ไม่มีเสียงใดๆ ลอดออกมา พยายามจะพูด แต่พูดไม่ออก แทบหยุดหายใจรู้สึกตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ต่อหน้าคณะกรรมการและผู้ติดตามเดินมาเป็นแผง จับจ้องอยู่ที่เราคนเดียว แต่เราไม่สามารถตอบคำถามใดๆ อยากจะหายตัวไปจากตรงนั้น
หลังจากนั้น… ก็จำอะไรไม่ได้อีก…..😵 เหตุการณ์นั้น ทำให้เราได้ที่ 2 รู้ทีหลังว่า ใครๆ ก็คิดเราน่าจะได้รางวัลชนะเลิศ จากการอ่านงานวิจัยที่เราเขียน เพราะเป็นงานที่สามารถช่วยเกษตกรได้อีกมากมาย
อาการปากแห้ง คอแห้ง เสียงไม่ออก เสียงแหลมปี๊ด พูดไม่ออก หยุดกลางคัน พูดลิ้นพันกัน เสียงสั่น มือเย็น เหงื่อท่วม นอนไม่หลับ ท้องเสีย หัวใจเต้นรัว หน้าซีด ปากสั่น อาการที่ว่านี้เคยเป็นมาหมดแล้วค่ะ 😢 รู้สึกใจชื้นที่อ่านเจอว่า.. “การพูดในที่ชุมชน” เป็นความกลัวอันดับต้นๆ ของคนทั้งโลก !! 😳
เพราะฉะนั้น สบายใจได้ เพื่อนเยอะ😆 รู้ทั้งรู้ ว่าทักษะการพูด สื่อสาร เป็นเรื่องสำคัญมากเป็นความเป็นความตายในหน้าที่การงานเลยหล่ะ ลองคิดตามดูนะคะ ทำธุรกิจ แต่พูดไม่เป็น ขายไม่เก่ง พูดกับคนหมู่มากไม่ได้ เป็นพนักงานอนาคตไกล ความรู้ดี มุ่งมั่นตั้งใจ แต่สื่อสารหน้าห้องไม่ได้ เป็นผู้บริหาร แต่ไม่ยอมจับไมค์พูด คงยากที่จะเจริญเติบโตว่าไปแล้ว ในยุคนี้ที่คนเก่งๆ ยังตกงาน ก็อาจรอดยาก ไม่ต้องมีใครบอกก็รู้ว่า “ทักษะการพูด” เป็นเรื่อง… “จำเป็น”
เอาหล่ะค่ะ มาดูดีกว่า จะทำอะไรกับมันได้บ้าง ถ้าอยากหาย ก็มีแต่คนบอกว่า ต้องพูดบ่อยๆ เดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง ก็น่าจะถูกค่ะ แต่ก็พอเข้าใจว่า ก็มันกลัวขนาดนั้น จะให้ไปพูดบ่อยๆ ได้ยังไง 😆😆 แค่คิดก็ขนลุกแล้ววววว มีวิธีง่ายๆ มาให้ฝึกได้เองค่ะลองดูนะคะ ตัวเองก็ใช้วิธีที่ว่านี้ค่ะ ก็เลยอยากแบ่งปันค่ะ
1. เป็นเพื่อนกับไมโครโฟน หมายความว่า เราต้องรู้สึกคุ้นเคย เป็นเพื่อนกับมันก่อนไมโครโฟน เป็นแค่เครื่องมือที่ทำให้เสียงดังขึ้น มันไม่ตอบโต้ ไม่เถียง ไม่ถามยากๆ ลองหา หัวผักกาด แตงกวา แครอท หรืออะไรก็ได้ มาติ๊งต่าง ว่ามันคือ ไมค์!จับมัน ลองถือมันดู จับเหมือนกับลองพูดกับไมค์ดู
เวลาซ้อมพูด ก็ให้ซ้อมแบบถือไมค์ ใน Class Pitching จะให้ผู้เรียนหยิบขวดน้ำ ปากกา หรือ ดินสอ มาซ้อมเป็นไมโครโฟนนักเรียนก็จะยิ้มขำๆ 😅 เอาจริงหรอจาร… ให้เค้าทดลองพูด ตะโกน ใส่ความกระตือรือร้น Acting เข้าไปอีก 3 ระดับ เพราะเวลาจริงๆ จะดรอปลงไปอีก และให้พูดเสียงดังๆ พร้อมๆ กัน จะได้ไม่อาย กลุ่มคุณหมอ Engineer IT Geek Nerd ทั้งหลาย ได้ทดลอง ได้ผลมาแล้ว และ ขั้นตอนต่อไป
ถ้าคุ้นเคยกับมันแล้ว ก็ลองเปลี่ยนเป็นไมค์จริง ที่ยังไม่เปิดเสียง ซ้อมพูดเสมือนจริงจินตนาการเอา ว่าเรากำลังจับไมค์พูดขั้น Advance คือ ซ้อมจับไมค์ ที่เปิดเสียงจริง! นี่แหละ วิธีหาเวทีพูดได้ ทุกครั้งที่อยากพูด
2. ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้เหนื่อยนิดหน่อยก่อนถึงเวลาประมาณ 15 นาที กระโดดตบ วิ่งอยู่กับที่ 🏃 เต้นก็ได้ 💃 เป็นวิธีกระตุ้น ทำให้ร่างกายไม่ตอบสนองต่อความตื่นเต้น เมื่อถึงเวลา จะควบคุมร่างกายได้ดีขึ้นลองดูสิคะ ช่วยได้เยอะเลย
3. บริหารปากก่อนพูด ขยับปาก ออกเสียงสูงต่ำ คล้ายนักร้องฝึกเสียงค่ะ เช่น พูดคำว่า A E I O U ก็ได้ค่ะ (จริงๆ แล้วที่เจอในคริป เค้าให้ออกเสียง อา อี เอ โอ อู ) เป็นการออกกำลังกายเส้นเสียง ลอง search คำว่า วิธีวอร์มเสียง ก็จะได้หลายคลิปเลยค่ะ ลดอาการประหม่า เสียงไม่ออกหรือเสียงเพี้ยนได้ดีเลยค่ะ
4. หายใจลึกๆ สม่ำเสมอ เมื่อหายใจเข้า นับ 1 2 3 4 แล้วกลั้นหายใจ นับ 1 2 3 4 หายใจออก 1 2 3 4 วนไปค่ะ ทำแบบนี้ก่อนถึงเวลาพูด
ในช่วงรอใกล้ๆ เวลาจะให้กระโดดโลดเต้น หรือ พูดออกเสียง อาจจะไม่ได้วิธีนี้จะช่วยให้จิตมีสมาธิ สงบ มั่นคง อย่าลืมอมยิ้มด้วยนะคะ☺ หน้านิ่ง ไม่ตื่นตระหนัก แลดูเป็นมืออาชีพ ช่วยได้เยอะเลยค่ะ
5. ให้เขียนประโยคที่จะพูดขึ้นต้น 2 ประโยคแรก ใส่กระดาษแผ่นเล็กๆ ใส่ในกระเป๋าเสื้อ หรือกระเป๋ากางเกงเอาไว้ หยิบขึ้นมาดูให้อุ่นใจ ก่อนขึ้นพูด ไม่ต้องกลัวว่า จะจำอะไรไม่ได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความกัลวลของมือใหม่คือกลัวจนลืม ว่าจะพูดอะไรถ้ามี 2 ประโยคแรก เมื่อเริ่มต้นได้ มักจะไปต่อได้ไม่ยาก และถ้าตื่นเต้นจนลืมที่เตรียมมา จับต้นชนปลายไม่ถูก ลืมพูด พูดข้าม
จำไว้ว่า เค้าไม่รู้หรอกว่า เราลืมพูดที่เราเตรียมมา ให้แกล้งทำเป็น …ไม่ลืม ! พูดต่อเลย ไม่ได้พูดอะไรที่ควรจะพูดก็ช่างมันพูดเท่าที่นึกออก พูดเท่าที่พูดได้เท่าไหร่เท่านั้น อาจจะบอกตอนท้ายว่า ถ้าสนใจเพิ่มเติม มาถามทีหลังได้ ก็ดูเป็นมืออาชีพค่ะเชื่อไหมคะ ตอนเขียนอยู่นี้ ก็มือเย็น ตื่นเต้น เพราะเมื่อคิดถึงตอนนั้น อาการตื่นเต้นมันมาค่ะ มันไม่แปลกนะคะ ที่จะตื่นเต้นอย่าลืมนะคะ เรามีเพื่อนเยอะค่ะ เค้าเป็นกันทั้งโลกค่ะ และถ้ามันจะผิดจะพลาด ก็ไม่มีใครเสียชีวิตนี่ค่ะ เป็นกำลังใจให้ทุกท่านได้ก้าวเดินค่ะ เรามาพัฒนาและเติบโตไปด้วยกันนะคะ
#TOJONEWS #โตโจ้นิวส์ #Microphonebia #อาการกลัวไมโครโฟน
You must be logged in to post a comment Login