Connect with us

News

เสียงจากศิษย์เก่า ถึงหลักสูตร MBA ธรรมศาสตร์ โดย บอม โอฬาร CEO & Co-founder, DURIAN

Published

on

แฟนเพจ MBA Thammasat ได้โพสต์เรื่องราวความเห็นจากศิษย์เก่าจากหลักสูตร MBA ธรรมศาสตร์ โดยคุณบอม โอฬาร วีระนนท์ CEO & Co-founder, DURIAN และ CEO & Co-founder, Yak Green ซึ่งได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อโดยระบุดังนี้

1. ทำไมถึงตัดสินใจมาเรียนที่นี่ … Why MBA Thammasat?


“3 หัวใจหลัก คือ ความรู้ . เครือข่าย . ประสบการณ์”


ด้วยในเวลานั้นผมอายุราว 27-28 ปี เริ่มทำงานมาราว 5-6 ปี ซึ่งถือว่าเติบโตได้โดดเด่น มีประสบการณ์พอตัว แต่อยากต่อยอดชีวิตทั้งในฐานะมืออาชีพ และการเป็นเจ้าของกิจการในอนาคต ประกอบกับเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเรียนเอง ทั้งยังต้องส่งเงินดูแลคุณแม่และครอบครัวในทุก ๆ เดือนเสมอ จึงยังต้องสามารถทำงานและเรียนไปพร้อม ๆ กันได้ ดังนั้นการเลือกปริญญาโทสักใบ ต้องได้ทั้งความคุ้มค่าในคุณภาพของความรู้ เครือข่าย ประสบการณ์ ให้สมกับทรัพยากร เวลา และเงินทุนที่ต้องใช้ ก่อนเรียนจึงเปรียบเทียบหลักสูตรปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจใน 4 สถาบันหลักชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งในที่นี่จะบอกถึงปัจจัยที่สุดท้ายผมตัดสินใจเลือกเรียนปริญญาโท MBA ที่ธรรมศาสตร์ครับ

1.1 ความรู้ – ของเหล่าคณาจารย์ ที่มีทั้งองค์ความรู้ในหลักวิชาเต็มเปี่ยม และประสบการณ์แบบล้นๆ

ปัจจัยเรื่ององค์ความรู้ของผู้สอนว่า สามารถตอบโจทย์ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งในการตัดสินใจเรียนที่นี่ ด้วยเราต้องการนำความรู้ไปใช้งานจริง มาตรฐานการศึกษาของ TBS ได้รับการยอมรับในระดับสูงสุดของประเทศไทย เอเชีย และระดับโลก ประกอบกับคณาจารย์ที่สอนในสถาบันฯ ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความรู้จริง ทั้งในเชิงการศึกษา จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทั้งของไทยและนานาชาติ ในทุกภูมิภาคทั่วโลก มีหลากวิชาให้เราเลือกเรียนตามความสนใจ และยิ่งกว่านั้น หลายๆ ท่านล้วนมีประสบการณ์ในการทำงานจริง เป็นผู้บริหารจริง รวมทั้งมีการเชิญเหล่านักธุรกิจชั้นนำ ทั้งเล็กใหญ่ ในหลายอุตสาหกรรม มาแบ่งปันประสบการณ์กันสม่ำเสมอ ซึ่งเรียกได้ว่า MBA Thammasat โดดเด่นตั้งแต่เหล่าคณาจารย์ ที่คุณภาพคับแก้วมากๆ ซึ่งถือเป็นจุดได้เปรียบแรกที่เราพิจารณา

1.2 เครือข่าย – หัวใจสำคัญในการต่อยอดธุรกิจและชีวิต

เรารายล้อมตนเอง ด้วยคนแบบไหน เราจะค่อยๆ พัฒนาเป็นคนแบบนั้น คือ สิ่งที่เราเชื่อมั่นอยู่เสมอ ด้วย MBA ธรรมศาสตร์ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ผมเรียน MBA ตอนปี 2550 ณ เวลานั้น คือ ก่อตั้งมายาวนานกว่า 35 ปี หากนับถึงวันนี้ก่อตั้งมาเป็นเวลายาวนานกว่า 50 ปีแล้ว จึงมีพัฒนาการทั้งในมิติของสถาบัน คณาจารย์ และศิษย์เก่า กล่าวคือมีเหล่าคณาจารย์ทั้งจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมากมาย นักธุรกิจตัวจริง ตลอดจนมีการ Cross แลกเปลี่ยนอาจารย์กันระหว่างหลักสูตรปริญญาโทด้านอื่น ๆ ในคณะ มีโอกาสเชื่อมโยงทั้งเพื่อนร่วมรุ่น เพื่อนปริญญาโทด้านอื่นๆ รุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่กระจายตัวไปเป็นมืออาชีพ และผู้ประกอบการ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในหลากหลายวงการ ทั้งในไทยและต่างประเทศ สิ่งนี้ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่ผมใช้ในการตัดสินใจในเวลานั้น ด้วยเข้าใจดีว่าเครือข่ายที่ดี ที่รายล้อมเรา คือประตูที่สามารถเปิดไปสู่โอกาสอันหลากหลาย ที่จะเป็นเวที ที่ทำให้เราได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ที่เรียนรู้มา ต่อยอดพัฒนาได้ทั้งมิติเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

1.3 ประสบการณ์ – การเรียน MBA ที่นี่มีครบ ทั้งการแลกเปลี่ยนนานาชาติ กัลยาณมิตร และการแข่งขันธุรกิจ


ผมตั้งเป้าไว้แต่แรกหากต้องจัดเวลามาเรียนปริญญาโทนั้น อยากอยู่ในสังคมที่รายล้อมด้วยกัลยาณมิตร อยากไปเรียนแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ เพราะต้องการนำความรู้และประสบการณ์ในระดับโลกมาต่อยอดชีวิตหลายมิติในอนาคต ตลอดจนอยากแข่งขัน Business Competition ด้วยในสมัยที่ทำงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดูโครงการประกวดแข่งขันแผนธุรกิจต่างๆ มากมาย ทั้ง mai Sasin Business Challenge, Mootcorp, SMEs ตีแตก etc. ชอบศึกษากลยุทธ์การแข่งขัน และ Case Study ด้านธุรกิจและการตลาดต่างๆ เพราะทำให้เราได้ฝึกคิดจินตนาการตามไป ว่าถ้าเป็นเราจะทำอย่างไร ดังนั้นจึงตั้งใจว่า ถ้าจะเรียนทั้งที จะเรียนในสถาบันที่มีเวทีที่เปิดโอกาส ให้เราได้ประสบการณ์ทั้ง 3 เรื่องนี้ครบถ้วน ซึ่งแน่นอนว่า MBA Thammasat มีให้ครบถ้วนจริงๆ

ดังนั้นเมื่อศึกษาจนรอบด้าน MBA Thammasat จึงเป็นสถาบันที่เราเลือกเป็นอันดับหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งเมื่อประกอบกับต้นทุนการศึกษา ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบริการประชาชน ค่าเล่าเรียน จึงไม่ได้สูงมากนัก เมื่อต้องจ่ายค่าเรียนด้วยตนเอง ประกอบกับต้องทำงานส่งเงินดูแลคุณแม่และครอบครัวไปด้วย จึงต้องทำงานขณะเรียนไปด้วย การเรียน MBA Thammasat ซึ่งเป็นภาคไทย ประหยัดกว่าภาคอินเตอร์มาก และยังคงมีโอกาสไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศไม่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับความตั้งใจในการแลกเปลี่ยน ที่ต้องศึกษาข้อมูล และตัดสินใจให้ดี ทั้งด้วย Background เดิมผมเรียนจบปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก่อนหน้านั้นซิ่วมาจาก คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เพราะเกเรจัดๆ ในช่วงหนึ่งของชีวิต จึงอยากได้ปริญญาธรรมศาสตร์มาอีกใบ เมื่อประมวลเหตุผลทั้งหมดเข้าด้วยกัน การตัดสินใจเรียนปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจ MBA ธรรมศาสตร์ (TBS : Thammasat Business School) จึงเป็นคำตอบสุดท้าย ที่ดีและเหมาะสมที่สุดกับผมในเวลานั้นจริงๆ

2. ตอนเรียนเป็นอย่างไร … ถึกอึดทน แต่สนุก คุ้มค่า ได้เกินกว่าที่คาดหวัง และต่อยอดได้ในทุกมิติของชีวิต


สิ่งที่เป็น DNA ของชาว MBA Thammasat ที่แทบทุกคนที่เป็นศิษย์เก่า พูดเป็นเสียงเดียวกัน คือ ความจริงจังในการเรียน การสอน ที่เหล่าอาจารย์ในแทบทุกวิชา จะมีการสั่งการบ้าน และมอบหมายงาน โดยมีเป้าหมาย ให้เราได้องค์ความรู้ในวิชานั้น ๆ อย่างดีที่สุด ภายใต้กรอบเวลาที่มี และด้วยระยะเวลาเพียง 2 ปี ที่เราต้องเรียนกันแบบจริงจัง ซึ่งทุกวิชาก็ล้วนสั่งงานไม่ได้ย่อหย่อนไปกว่ากัน จึงทำให้ผู้เรียนต้องมีความตั้งใจ ความอดทน ตลอดจนฝึกการทำงานเป็นทีมไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งหากมองย้อนกลับไป สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อดี เพราะมันเกิด สภาพบังคับ ที่เราต้องทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมคณะในแต่ละวิชา ที่ทำให้เราได้พบเจอผู้คนที่หลากหลาย แตกต่างกันทั้งวัย พื้นฐานความรู้ ประสบการณ์ ซึ่งอาจกลายมาเป็นเหล่ากัลยาณมิตร ที่คบกันไปตลอดชีวิตได้ และในท้ายที่สุดแม้จะเรียนหนัก อาจารย์สั่งงานมากขนาดไหน ด้วยความใส่ใจและเมตตาของอาจารย์ ถ้าเรามีความรับผิดชอบ และตั้งใจ ก็ไม่ยากเกินกว่าที่จะจบออกไปจากสถาบันแห่งนี้พร้อมกับเพื่อน ๆ ทุกคนอย่างแน่นอน

2.1 ด้วยหลักการของสถาบันที่ดี เราจึงมีกัลยาณมิตรดี ๆ รายล้อมเสมอ

หากจำได้ สิ่งที่ผมอยากได้จากการเรียนปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ นอกจากความรู้ ที่จะนำไปใช้จริง อีก 3 สิ่งคือ กัลยาณมิตร การแลกเปลี่ยนนานาชาติ และการแข่งขันธุรกิจ ในที่นี่จะขอบันทึกไว้ดังนี้
ด้วยหลักการ (Principle) ในการก่อตั้งหลักสูตรโครงการปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ (Master of Business Administration Program-MBA) ม.ธรรมศาสตร์ ได้ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2515 โดย ศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะนั้น เจ้าของอมตะวาจา ที่ว่า “สิ่งที่ถูกต้องคือถูกต้อง แม้ไม่มีใครทําสิ่งนั้น สิ่งที่ผิดคือสิ่งที่ผิด แม้ทุกคนทําสิ่งนั้น” ที่เป็นหลักยึดให้ผู้คนมากมาย ในแวดวงธุรกิจ ตลาดเงิน และตลาดทุนมาจนปัจจุบัน สิ่งนี้กลายมาเป็นหนึ่งใน DNA สำคัญของผมและผู้ที่เรียน MBA ธรรมศาสตร์ หลายคนโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสะท้อนไปถึงการจัดหลักสูตร การคัดสรรบุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างมีคุณภาพ มีคุณธรรม ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่า เพื่อนๆ ร่วมรุ่นที่เข้ามา ล้วนเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี

2.2 MBA Thammasat ให้โอกาสในการแลกเปลี่ยนมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก

หากย้อนคิดไปในเวลานั้น เราเป็นเพียงพนักงานตัวเล็ก ๆ อายุราว ๆ 27-28 ปี เงินเดือนก็ไม่ได้มากมายนัก แต่อยากไปเรียนแลกเปลี่ยนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก โดยไม่ต้องใช้เงินมากนัก และก่อนตัดสินใจเข้ามาเรียนที่นี่ก็ศึกษามาแล้วว่า เรียนภาคไทย ก็สามารถไปเรียนแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติได้ โดยไม่ต้องกับหลักสูตรอินเตอร์เช่นกัน เพียงแต่ต้องคอยติดตามศึกษาข้อมูล เพราะไม่ได้เป็นการบังคับว่าทุกคนต้องไป แต่เป็นสิ่งที่ผู้สนใจ ต้องขวนขวาย ตั้งใจสมัครไปด้วยตนเอง ซึ่งไม่ยากเกินกว่าที่เราจะทำอยู่แล้ว

พอเป้าหมายเป็นเช่นนี้เลยทำข้อมูลต่อ จึงได้พบว่า ในมหาลัยด้านธุรกิจชั้นนำของโลกจะมีเครือข่าย ที่ชื่อว่า PIM (Partnership in International Management) ซึ่งเป็น Community of International Business School ที่โดนเด่นทั่วโลก ทั้งในอเมริกา ยุโรป และเอเชีย และที่น่าสนใจมากๆ คือ ทั้งประเทศไทย มีเพียงมหาวิทยาลัยเดียวที่อยู่ในเครือข่ายของ PIM คือ ม.ธรรมศาสตร์ ดังนั้น จึงทำให้คนเรียนที่นี่ได้โอกาสที่ดีมาก ๆ

“เลือกไปแลกเปลี่ยนที่ NHH, NORWAY รับเพียง 6 คนในเอเชีย แต่ไปได้เพราะมีกลยุทธ์”
ตามข้อมูลด้านบน จะเห็นได้ว่า TBS : Thammasat Business School เปิดโอกาสนักศึกษาที่สนใจ สามารถสมัครไปเรียนแลกเปลี่ยนในมหาวิทยาลัยชั้นนำได้ทั่วโลก แน่นอนว่าผมติดตาม และตัดสินใจสมัครไปเรียนแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัย NHH (Norwegian School of Economics) ประเทศนอร์เวย์ (Norway) ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยด้านการบริหารธุรกิจอันดับหนึ่งของ Scandinavian ในยุคนั้นเครือบริษัทในกลุ่มสแกนดิเนเวีย เช่น Telenor, STAT OIL, IKEA, etc. ล้วนให้ความสำคัญ และมีผู้บริหารจบจากที่นี่มากมาย ณ เวลานั้น NHH มีทุนการศึกษาแบบ Quota Scheme Program หรือทุนรัฐบาลนอร์เวย์ ที่นอกจากจะให้ทุนฟรี ทั้งค่าเทอม ค่าที่อยู่ ค่าเดินทาง ยังมีค่าอาหารและใช้จ่าย ที่มากพอที่จะให้เงินทางบ้านไว้ใช้ได้ในแต่ละเดือนด้วย ซึ่งทำให้การตัดสินใจไปเรียนต่างประเทศง่ายขึ้น และผมสามารถลางานโดยไม่รับเงินเดือน (Leave without pay) ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นระยะเวลา 1 ปี และยังสามารถส่งเงินให้คุณแม่และทางบ้านได้ในทุกๆ เดือน ได้อีกด้วย ฟังดูลงตัวไปหมด

แต่ความท้าทาย คือ ทุนรัฐบาลนอร์เวย์ นั้น ให้ประเทศในเอเชียเพียง 5 ทุน คือ ให้ประเทศไทย 1 ทุน สิงคโปร์ และจีน ประเทศละ 2 ทุน แน่นอนว่าตัวแทนประเทศไทย ที่ได้ไป คือ ผม บอม โอฬาร วีระนนท์ ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าผมเก่งมากที่ได้ไป เอาจริงๆ คือไม่ใช่ แต่เป็นเพราะเราศึกษา ข้อมูลดี และมีกลยุทธ์ กล่าวคือ ในยุคนั้น คนมักเลือกไปมหาลัยชั้นนำ ใน USA และ EU เป็นหลัก โดยภูมิภาค Scandinavia มีคนสนใจน้อยกว่า อีกทั้งที่บอกทั้งประเทศไทย มีได้คนเดียว เอาเข้าจริงๆ ผมก็ไม่ได้แข่งกับคนทั้งประเทศไทย แต่เราแข่งกับมหาวิทยาลัยในไทยที่ผ่านมาตรฐานการเป็น PIM School ซึ่งทั้งประเทศไทย ก็มีเพียงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น ดังนั้นคนที่ผมแข่งด้วยจริง ๆ ก็มีเพียงนักศึกษาปริญญาโท ในธรรมศาสตร์ด้วยกัน ซึ่งง่ายกว่าการแข่งขันกับทั้งประเทศไทยมากนัก และนั่นถือเป็นทั้งจุดเปลี่ยน จุดสะสมประสบการณ์ และเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต ทั้งเมื่อได้ทุนแล้ว เรารู้สึกว่าอยากไปร่วมกับเพื่อนสนิทของเราในยุคนั้น และปีก่อนหน้าเค้าเปิดรับ นักศึกษาจากประเทศไทย ปีละ 2 ทุน ก็เขียน email ไปแจ้งเค้า ว่าทำไมปีนี้เปิด 1 ทุน ขอร้องให้เค้าเปิดให้ 2 ทุน เหมือนเช่นทุกปี เทียบเท่ากับที่เค้าส่งนักศึกษามาแลกเปลี่ยนกับ TBS ที่ประเทศไทยได้รึไม่ ใครจะคาดคิดว่า ด้วยการไม่ยอมแพ้ มีหลักคิดในการพยายาม “อีกนิดนึง” ก็ทำให้ในปีนั้นประเทศไทย เราได้โควตาทุนรัฐบาลนอร์เวย์ มา 2 ทุน ซึ่งแน่นอนว่า เป็นผมและเพื่อนสนิทที่ได้ไปพร้อมกัน

แลกเปลี่ยน 1 ปี ไปเปิดประสบการณ์กว่า 15 ประเทศ 30 กว่าเมือง โดยไม่ต้องเปลืองเงินส่วนตัว

การไปเรียนแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัย NHH เมืองเบอร์เกน (Bergen) ประเทศนอร์เวย์ (Norway) ทำให้ได้พบเพื่อนร่วม Class จากแทบทุกมุมโลก ได้อยู่ใน Ecosystems ของการเรียนรู้ ที่กล่าวขวัญกันว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศ ที่มีมาตรฐานทางการศึกษาสูงที่สุดในโลก อยู่ในประเทศที่มีคุณภาพชีวิตและรัฐสวัสดิการที่ดีที่สุดในโลก ประชาชนมีจิตใจดี อัตรา Donation per capita อยู่ในกลุ่มสูงที่สุดในโลกเช่นกัน ทั้งตัวเมือง Bergen เอง ก็เป็นมรดกโลก ที่ทั้งสวยงาม อุดมด้วยความเป็นธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างยอดเยี่ยม จนได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นไข่มุกเม็ดงามแห่งยุโรป

ซึ่งจริง ๆ แล้วการไปแลกเปลี่ยนเค้ากำหนดว่าไปเพียง 1 เทอมก็เพียงพอ จะได้กลับมาเรียนจบพร้อมกับเพื่อนๆ ในรุ่น แต่หากอยากได้ทุนเรียนรัฐบาลนอร์เวย์ในสมัยนั้น เงื่อนไขคือ ต้องเรียน 1 ปี เต็ม ๆ และทำให้จบช้ากว่าเพื่อนๆ 1 ปี ซึ่งสำหรับเราถือว่าคุ้มค่ามาก และตัดสินใจได้ไม่ยาก และการใช้เวลาที่ Norway 1 ปี กลายเป็นรากฐาน ในการคิดต่อยอดทั้งชีวิต และธุรกิจ ที่ยังคงอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล

การตัดสินใจไปโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนนานาชาติระดับปริญญาโท ที่ได้รับจากโอกาสจากการเรียน MBA ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ยังเปิดโอกาสให้เราสามารถไปท่องเที่ยวจากการเก็บออมเงินทุนที่ได้รับ พร้อมกับการทำงานพิเศษระหว่างเรียนในรูปแบบต่าง ๆ ไปท่องเที่ยวได้กว่า 18 ประเทศในยุโรป ทั้งนอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน โปแลนด์ อิตาลี กรีซ ฮังการี ออสเตรีย เช็ก ลัตเวีย เอสโตเนีย สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และนครรัฐวาติกัน ในเมืองต่างๆ กว่า 30 เมือง ช่วงปิดเทอมไป Backpack ที่ 36 วัน ช่วงพักระหว่าง Class ไปเป็นสัปดาห์ เรียกว่าเปิดโลกได้แบบจุใจ และเป็นประสบการณ์ที่ต้องบันทึกไว้ และเปิดกรอบความคิด (Paradigm Shift) ในแทบทุกมิติของชีวิตจริง ๆ

2.3 การแข่งขันธุรกิจ อีกหนึ่งภารกิจที่ได้ทำสมัยเรียน MBA ยิ่งสร้างคุณค่า ให้ผู้คนได้มาก รางวัลยิ่งทวีคูณ

ด้วยหนึ่งในเป้าหมายสมัยเรียนปริญญาโท คือ การแข่งขันธุรกิจ ผมและเพื่อน ๆ MBA Thammasat จึงรวมตัวกัน ไปประกวดโครงการแผนการตลาดออนไลน์ “MK Young Creative Contest 2010” จัดโดย บมจ.มั่นคงเคหะการ (MK) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนํา เจ้าของ Brand “ชวนชื่น” และ “สิรีนเฮ้าส์” ซึ่งในสมัยนั้นถือเป็นโครงการที่โดดเด่นและจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 มีผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดระดับประเทศเป็นผู้ตัดสิน หนึ่งในนั้น คือ อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย ขาโหดแห่ง SME ตีแตก ที่โด่งดังทั้งในแง่ความรู้และการวิจารณ์ธุรกิจที่คมชัดและจัดจ้าน จนพวกเราอยาก “ลองของ” ทั้งเพื่อสร้างแบรนด์ ตอบโจทย์เป้าหมาย และอยากวัดว่า “พวกเราแน่แค่ไหน” ด้วยการเตรียมตัวเป็นอย่างดีและพลังของทีม เราสามารถ “คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งของประเทศไทย” พร้อมด้วยคําวิจารณ์สั้น ๆ ที่ทั้งสร้างความประทับใจและจําได้ทุกวันนี้ว่าจากอาจารย์ว่า “ความสามารถของพวกคุณ เกินสนามนี้ไปแล้ว” แม้รางวัลของผู้ชนะจะไม่มากมาย (เงินรางวัลชนะเลิศ 80,000 บาท หารกันเหลือคนละไม่ถึง 20,000 บาท) แต่ผมได้เรียนรู้จากหัวใจว่าคุณค่าของการสร้างแบรนด์มีค่ากว่าจํานวนเงินที่คุณได้รับมากนัก

จบจากงานนั้นชื่อเสียงของพวกเราเริ่มติดอยู่ในแวดวงคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจด้านการตลาด เปิดโอกาสให้มีโอกาสได้ทํางานร่วมกับ “พี่ต่อ ปิยะ ซอโสตถิกุล” ที่ในสมัยนั้นเป็น อดีตผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ที่ยอมทิ้งตําแหน่งบริหารระดับสูง มาสานต่อกิจการครอบครัว ในตําแหน่งกรรมการบริหาร ซีคอนกรุ๊ป ซึ่งมีธุรกิจในเครือ เช่น ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ รองเท้านันยาง ผงชูรสตราชฏา ซีคอนรับสร้างบ้าน และอื่น ๆ อีกมากมาย กับภารกิจท้าทายในการวางกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ในการสร้างแบรนด์สินค้าตัวใหม่อย่างครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการคิดร่วมกับผู้บริหาร เจ้าของกิจการ และลงมือทําให้เกิดจริง ซึ่งล้วนมาจาก “ความกล้าในการลงมือทํา” และขอบคุณพี่ต่อ ปิยะ ซอโสตถิกุล ที่ให้โอกาสดีๆ แก่วัยรุ่นอย่างพวกเราชาว MBA Thammasat ในขณะนั้น จนเติบใหญ่ กระจายกันไปหลายวงการมาในทุกวันนี้ครับ

3. หลังเรียนเป็นอย่างไร … ต่อยอดชีวิตได้ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

สำหรับผม พูดได้เต็มปากว่า หากไม่ได้เรียน MBA Thammasat ในวันนั้น คงขาดจุดสำคัญ ในการเชื่อมต่อจุดอื่น ๆ มาจนปัจจุบัน ดังนั้นหากสรุปสิ่งที่ได้จากการเรียนสั้น ๆ คงบอกว่า “MBA ธรรมศาสตร์ เป็นจุดสำคัญ ในการเปิดประตูแห่งโอกาส ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ได้รอบด้านตามเป้าหมายชีวิตเราจริงๆ”

ในแง่เศรษฐกิจ และสังคม แบ่งออกเป็นการการทำงานเป็นมืออาชีพ และการเป็นเจ้าของกิจการเอง โดยเมื่อกลับมาจากการแลกเปลี่ยนที่ Norway พร้อมองค์ความรู้ที่มีแล้ว ผมตัดสินใจ ทำงานประจำที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีก 2 ปี ก่อนจะออกไปทำธุรกิจของตนเองตามเป้าหมายชีวิต และผมเชื่อว่าทั้งจากการทำงาน และการเรียนที่นี่ ทำให้เราสามารถเลือกฝ่ายงานที่เราต้องการได้อย่างหลากหลายมากขึ้น จากที่เราทำงานมาร่วม 10 ฝ่ายงานในกลุ่มบริษัทตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว เหลือเพียง 2 ฝ่ายงานที่อยากลงไปเรียนรู้จริงๆ คือ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (Human Resource) เพราะมองว่าเรื่องการพัฒนาคน คือ หนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุด ในการพัฒนาธุรกิจในอนาคต และอีกฝ่ายคือ สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท. : Capital Market Academy) ด้วยมองว่าทั้งเครือข่าย องค์ความรู้ และประสบการณ์ในการประสานงานกับผู้ใหญ่จากภาครัฐ และเอกชนในทุกระดับ จะเป็นอีกจุดเชื่อมต่อในการสร้างแรงกระเพื่อมดีๆ สู่สังคมต่อไปได้ และอยากลองใช้พลังของเครือข่ายสร้างผลกระทบเชิงบวกให้คนในวงกว้าง ซึ่งแน่นอนว่าเรามีโอกาสได้เลือก งานที่เราอยากทำด้วยตนเอง และตำแหน่งงานสุดท้าย คือ “ผู้ประสานงานโครงการ พลัง วตท. ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” ที่ประสานงานนำพลังที่มี ไปต่อยอดพัฒนาชุมชน ที่มีความเหลื่อมล้ำสูง

และทั้งหมดนั่นถือเป็นประสบการณ์ และรากแก้ว ที่สำคัญ ในการสร้างโครงการต่อยอดมากมายทั้งในฐานะเจ้าของกิจการ กรรมการในองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนการเชื่อมโยงพันธมิตร การระดมทุน ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน ประเทศ และนานาชาติมาจนปัจจุบัน

ในแง่ของการเมือง : สำหรับผมการเรียนทั้งจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการมาต่อยอดที่ MBA มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นจุดสำคัญ ที่ทำให้ตระหนักถึงการรับผิดชอบต่อสังคม การได้รับโอกาสทางการศึกษา ทั้งจากสถาบันที่ปลูกฝังเรื่องเกียรติภูมิจุฬาฯ คือ เกียรติของการรับใช้ประชาชน มาต่อยอดที่ธรรมศาสตร์ที่ปลูกฝังเรื่อง ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน ตลอดจนการทำงานที่เครือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการมาเรียนใน TBS ที่ไม่ว่าจะเดินไปที่ไหนก็จะเจอ
หลักคิดของศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ที่ว่า “สิ่งที่ถูกต้องคือถูกต้อง แม้ไม่มีใครทําสิ่งนั้น สิ่งที่ผิดคือสิ่งที่ผิด แม้ทุกคนทําสิ่งนั้น” สิ่งเหล่านี้ และอีกมากมาย ล้วนเป็นส่วนผสมกันที่ทำให้เราอยากขับเคลื่อนสังคมในระดับที่ใหญ่ขึ้น จนมีโอกาสเข้าไปร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองมา 3 พรรค ตั้งแต่พรรคพลังประชารัฐ ในยุคเริ่มต้น พรรคกล้า และพรรคสร้างอนาคตไทย ได้เรียนรู้หลักการสามเหลี่ยม เขยื้อนภูเขา คือ การขับเคลื่อนเรื่องที่ยาก ให้เกิดขึ้นจริง ที่ต้องมีทั้ง ความรู้จริงในสิ่งที่ทำ (Knowledge) การสื่อสารเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) และ เชื่อมโยงผู้กำหนดนโยบาย (Policy Link) สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมและหลากหลาย ที่แม้ในวันนี้ จะไม่ได้อยู่ในโลกการเมืองแบบทางตรง และมามุ่งเน้นการขับเคลื่อนในแง่เศรษฐกิจและสังคมอย่างจริงจัง ผ่านธุรกิจที่หลากหลาย แต่ทั้งหมดที่ได้เรียนรู้มา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเรียนที่ MBA ธรรมศาสตร์ ถือเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญมากจุดหนึ่งทั้งในฐานะประตูแห่งโอกาส และองค์ความรู้ในการลงมือทำ

สุดท้ายนี้ อยากขอขอบคุณคณาจารย์ทุกท่านในอดีตที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้มา ทั้งศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ในวิชา Operations Management และ Performance Measurement ตลอดจนให้ความกรุณาร่วมเป็นที่ปรึกษา IS : Independent Study ร่วมกับ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ ที่กรุณาเป็นอย่างมากในการให้คำแนะนำจนได้ผลงานระดับดีเยี่ยมออกมาได้ รศ.กิตติ สิริพัลลภ และผศ.พรรณพัชร อิทธิโอภาสกุล ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาการตลาด ที่นำเสนอกับแบบละครเวที ครบทั้ง เสียง กลิ่น รส ไอ หมอก ควัน จนทำให้เชื่อมั่นว่า ถ้าจริงจัง เราเอาชนะได้ทั้งโลก รส.ดร.ไว จามรมาน (อ.ไว) เจ้าแห่งวิชา Entrepreneur ที่สุดยอดในทุกมิติจริงๆ และเปิดโลกแห่งเครือข่ายผู้ประกอบการให้ผมและผู้ร่วม Class มากมาย ผศ.ดร.สมบูรณ์ กุลวิเศษชนะ (อ.แสบ) แห่ง Human Resource ที่ปราบเด็กผยศอย่างผมลงได้สบาย ๆ ผศ.เอกรินทร์ ยลระบิล เจ้าแห่ง Statistics for Managers และ Operational Research และสุดท้าย ผศ.สมชาติ เศรษฐสมภพ ที่คือที่สุดแห่ง SM: Strategic Managemen ที่ทำให้เราคิดเรื่องกลยุทธ์ เป็นอาหารว่างประจำวันไปเลย และยังมีคณาจารย์อื่น ๆ อีกมากมายที่ไม่สามารถกล่าวได้หมด

ท้ายสุด อยากเชียร์จากใจว่า หากใครอยากหาที่เรียนปริญญาโทบริหารธุรกิจที่สามารถตอบทุกโจทย์ชีวิตที่ต้องการได้ ผมแนะนำ MBA ธรรมศาสตร์ (Thammasat Business School : TBS) จากหัวใจ สำหรับปีการศึกษา 2567 นี้เปิดรับสมัครนักศึกษา MBA ธรรมศาสตร์ จะเป็นหลักสูตรที่เรียนเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์เท่านั้น

#MBATU
#MBA
#Thammasat

อย่าลืมกดติดตาม Tojo News เพื่อพบกับข่าวสาร และบทความใหม่ ๆ จากเรา

Line Today TOJO NEWS , ToJoNews

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: