สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) จัดหลักสูตร “ผู้นำยุคใหม่ พลิกโฉมธุรกิจด้วย Big Data และ AI” (LEAD : Transformational Leadership with Big Data and AI) เป็นสัปดาห์ที่ 4 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมแลงคาสเตอร์ กรุงเทพฯ เพื่อปลดล็อกศักยภาพผู้นำยุคใหม่ สู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญ เจาะลึกทุกมิติทาง Big Data และ AI สู่การประยุกต์ใช้จริง พร้อมถอดบทเรียนจากตัวอย่างการใช้งานจริงของบริษัทชั้นนำระดับโลก ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ตลอดจนเรียนรู้เทคนิคการสร้างความเชื่อมั่น และการนำ Big Data และ AI ไปปรับใช้ในองค์กร เพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ
ภายในงานช่วงแรกได้รับเกียรติจากคุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด มาแบ่งปันความรู้ในหัวข้อ “Leveraging Cloud and AI for Business Transformation” โดยคุณธนวัฒน์ โดยเผยว่า AI เป็นนวัตกรรมที่จะสร้าง Impact ซึ่ง AI เริ่มมาประมาณ 2 ปี ซึ่ง AI นั้นสามารถปลดล็อกหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการที่เราไม่ได้มีความสามารถในด้านการแต่งเพลงเลย แต่เราก็สามารถแต่งเพลงได้โดยการใช้การป้อนชุดคำสั่งลงไปใน Chat GPT เพื่อให้ได้เนื้อเพลงออกมา และใช้ Prompt ในการสร้างทำนองเพลง ซึ่งใช้เวลาในการทำเพลงนี้ทั้งสิ้นเพียง 30 นาทีก็ได้เพลงขึ้นมา
ซึ่งคุณธนวัฒน์ ได้กล่าวถึงโอกาสในการเปลี่ยนแปลงด้วย AI โดยแบ่งออกเป็นเรื่องของการเสริมสร้างประสบการณ์ของพนักงาน, สร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้าใหม่, ปรับโครงสร้างกระบวนการทางธุรกิจใหม่ และลดความยุ่งยากของนวัตกรรม โดยในประเทศไทยเราเองนั้น 92% มีการใช้ AI เป็นตัวช่วยในการทำงาน ซึ่งทั้งโลกนั้นมี 75% และ 81% ของ 92% นั้นมีการใช้ AI ทำงานเลย ซึ่งทั้งโลกมี 78%
หากเปรียบผู้ใช้ AI เป็นช่วงอายุ สำหรับ Gen Z มีการใช้ 85%, Millennials มีการใช้ 78%, Gen X มีการใช้ 76% และ Boomers มีการใช้ 73% นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจออกมาว่า 74% ของผู้นำไทยจะไม่จ้างคนที่ไม่มีทักษะ AI และคุณธนวัฒน์ได้ยกตัวอย่างการใช้ AI ในไทยอย่าง สปสช. ที่จะมีการปล่อยเร็ว ๆ นี้ที่เราสามารถทราบว่าตัวเราเองนั้นมีสิทธิ์อะไรบ้างและสามารถใช้ได้อย่างไร, การที่ SCBx มีการใช้ AI ในการร่าง Job Description และการใช้ AI เป็นตัวช่วยในการวางบทเรียนใน Khan Academy พร้อมกล่าวปิดท้ายไว้ว่า “Today’s magic is tomorrow’s commodity”
ช่วงถัดมา พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการ สกมช. มาบรรยายในเรื่อง “Cybersecurity in the Digital Age” ซึ่งพล.อ.ต. อมร เผยถึงความเสี่ยงระดับโลกทางด้านไซเบอร์จากการสำรวจพบว่าอันดับหนึ่งคือเรื่องของ Misinformation and disinformation พร้อมเล่าถึงประสบการณ์จอฟ้าของ Windows ในช่วงที่ผ่านมา (19 ก.ค.) ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากปัญหาทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ชื่อ “CrowdStrike” ทำให้คอมพิวเตอร์ที่ใช้ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟต์ทั่วโลกเกิดข้อผิดพลาดในการอัปเดตส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจและหน่วยงาน เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้พล.อ.ต. อมรกล่าวว่า สิ่งที่จะถูกติดต่อเพื่อทำการช่วยเหลือแก้ไขคือ วิทยุการบิน โรงพยาบาล ตามด้วยธนาคาร และอื่น ๆ ตามลำดับความสำคัญในการแก้ไขโดยกล่าวว่าเรื่องชีวิตของคนได้ถูกจัดเป็นความสำคัญลำดับแรก
สำหรับช่วงสุดท้ายของวันทางทีมที่ปรึกษา BDI นำโดย ผศ.ดร.ดวงใจ จิตคงชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากำลังคน สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ ได้จัดกิจกรรม “Workshop #1 Innovative Digital Solutions: Data-Driven Technology Implementations in Digital Era” โดยให้แต่ละกลุ่มทั้ง กลุ่ม L (Leadership), กลุ่ม E (Envision), กลุ่ม A (Agility) และ กลุ่ม D (Decision) ทำ Digital Maturity Assessment เพื่อประเมินคะแนน
โดยคะแนนจะถูกแบ่งออกมาเป็น 9 แกน คือ Strategy & Plan, Leadership, Customer Experience, Operations, People, Culture, Organization, Technology และ Data Analysis & AI ซึ่งแต่ละกลุ่มจะต้องหารือกันเพื่อเลือกออกมา 3 เรื่องจาก 9 แกน เพื่อนำไปทำ Gap Analysis Template ในสัปดาห์ถัดไป