วันปิยมหาราช เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื่องจากพระองค์เป็นที่รักใคร่ของพสกนิกรอย่างล้นเหลือ จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า
“สมเด็จพระปิยมหาราช” ซึ่งมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์อันทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”
ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ ๒๓ ตุลาคม ของทุกปี
เป็น “วันปิยมหาราช”ภายหลัง มีการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นการรำลึกถึง
พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงมีแด่ปวงชนชาวไทย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ – ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓) มีพระนามเดิมว่า
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยาม
รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ ปีฉลู
ตรงกับวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔ ใน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระองค์แรก ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
ในวัยเยาว์ เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงได้รับการศึกษาขั้นแรกจาก
สำนักพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี โดยทรงศึกษาด้านวิชาการและโบราณราชประเพณีต่างๆ
หลังจากนั้น พระบรมชนกนาถ ทรงจ้างครูชาวต่างประเทศมาสอนภาษาอังกฤษ
เนื่องจากทรงเห็นว่า ต่อไปในอนาคต ภาษาอังกฤษ จะจำเป็นอย่างมาก
และพระบรมชนกนาถทรงฝึกสอนวิชาการในด้านต่างๆ อาทิ วิชารัฐศาสตร์ ด้วยพระองค์เองด้วย
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จสวรรคต
เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ ได้พร้อมกันถวายพระราชสมบัติ แด่
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ
เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
และได้จัดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑
ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แต่ในขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๖ พรรษา ขุนนางผู้ใหญ่ จึงแต่งตั้ง
เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
โดยในระหว่างนั้นพระองค์ ได้เสด็จประพาสต่างประเทศ เพื่อทอดพระเนตรการบริหารบ้านเมือง
และวิทยาการสมัยใหม่ จากประเทศแถบยุโรป เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศ
จึงเป็นที่มาของพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้านของพระองค์ อาทิ
- ด้านการทหารและการปกครองประเทศ ทรงนำแบบอย่างทางทหารของประเทศแถบยุโรป
มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย มีการจัดตั้งกรมเสนาธิการทหารบกขึ้นเป็นครั้งแรก
และทรงตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบกและทหารเรือ ตลอดจนส่งพระราชโอรส
ไปศึกษาวิชาการทหารในทวีปยุโรป - ด้านการปกครองประเทศ ทรงให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ แยกหน่วยราชการ
ออกเป็นกรมกองต่างๆ จากเดิมมี ๖ กระทรวง และได้เพิ่มอีก ๔ กระทรวง
รวมเป็น ๑๐ กระทรวง ในส่วนภูมิภาคทรงให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรก
โดยให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย - ด้านเศรษฐกิจและการคลัง ทรงให้มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้น โดยทรงให้แยกเงินแผ่นดิน
และเงินส่วนพระองค์ออกจากกัน และทรงให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเป็นครั้งแรก
ได้แก่ ธนาคารสยามกัมมาจล - ด้านการศึกษา ทรงให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวังจัดการเรียนการสอน
แล้วขยายออกไปทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อให้ทั่วถึงประชาชน
ทำให้การศึกษาของไทยได้รับการพัฒนามากขึ้นกว่าเดิม - ด้านการต่างประเทศ พระองค์ได้เห็นถึงความสำคัญของการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ
ในรัชสมัยของพระองค์จึงมีการส่งเอกอัครราชทูตไปประจำในต่างประเทศเป็นครั้งแรก
และพระองค์ยังทรงเสด็จประพาสประเทศต่างๆ เพื่อนำวิทยาการสมัยใหม่มาพัฒนาประเทศ - ด้านการคมนาคมและสาธารณูปโภค ทรงให้สร้างถนนขึ้นหลายสายและทรงสละพระราชทรัพย์
ส่วนพระองค์สร้างสะพานข้ามคลองและทางรถไฟหลายแห่ง อาทิ สะพานเฉลิมสวรรค์เฉลิมศรี
ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ เป็นต้น - ส่วนด้านสาธารณูปโภค ทรงมีพระราชดำริว่าประชาชน ควรมีน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค พระองค์จึงทรงให้ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้น ด้วยทรงอยากให้ประชาชน
มีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ พระองค์ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นค่าก่อสร้าง
โรงพยาบาลวังหลัง (ซึ่งปัจจุบันคือโรงพยาบาลศิริราช)
เพื่อเป็นสถานที่สำหรับรักษาประชาชนเมื่อยามเจ็บป่วย - ด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการสังคายนาและจัดพิมพ์พระไตรปิฎก
ด้วยตัวอักษรไทยเป็นครั้งแรก และทรงให้มีการตราพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์
เป็นฉบับแรกด้วย ส่วนด้านศิลปวัฒนธรรมนั้น ในสมัยของพระองค์ส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพล
จากตะวันตก เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จประพาสยุโรป จึงนำสถาปัตยกรรมตะวันตก
มาผสมผสานกับของไทยได้อย่างงดงาม เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชวังสวนดุสิต และกระทรวงกลาโหม เป็นต้น
พระราชกรณียกิจอีกประการที่สำคัญยิ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ
การเลิกทาส พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้มีการเลิกทาสให้เป็นไทตั้งแต่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์
ด้วยไม่ต้องการให้มีการกดขี่เหยียดหยามคนไทยด้วยกันเอง และทรงเห็นว่าการมีทาสเป็นสิ่งที่ล้าสมัย
ไม่เหมาะกับประเทศที่เจริญแล้ว พระองค์ได้ทำการปรึกษาราชการแผ่นดินในหลายฝ่ายเพื่อหาวิธี
ไม่ให้มีเหตุกระทบกระเทือนต่อตัวทาสและเจ้าของทาส
ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ พระองค์ได้ทรงตราพระราชบัญญัติทาส ห้ามคนที่เกิดในรัชกาลปัจจุบันเป็นทาส
และต่อมาพระองค์ทรงตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท ณ วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๔๑๗
ด้วยพระวิริยะอุตสาหะทำให้ทรงประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการปลดปล่อยทาสให้เป็นไท
โดยไม่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อแม้แต่หยดเดียว
การเสด็จประพาสต้น เป็นพระราชกรณียกิจสำคัญประการหนึ่งของ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะดูแลทุกข์สุข
ของราษฎรอย่างใกล้ชิด ดังนั้น จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการเสด็จพระราชดำเนินเป็นการลับ
ทางรถไฟหรือไม่ก็ทางเรือ ทรงแต่งพระองค์อย่างสามัญชน เพื่อเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓
สิริรวมพระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา นับเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ของราชอาณาจักรสยาม
ด้วยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่พระปรีชาสามารถ และเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรไทย
สมกับพระราชสมัญญา “พระปิยมหาราช” ซึ่งหมายความว่า
“พระมหากษัตริย์อันทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”
ข้อมูลจาก
http://www.culture.go.th
๒๓ ตุลาคม วันปิยมหาราช พระมหากษัตริย์ยิ่งใหญ่อันเป็นที่รักของทวยราษฎร์ (silpa-mag.com)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)
Chulalongkorn – Wikipedia
You must be logged in to post a comment Login