ราชาแห่งยักษ์ จตุโลกบาลผู้ปกปักรักษาแห่งเบื้องทิศอุดร
ตามคติในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีความเชื่อเรื่องราวเกี่ยวกับยักษ์ ที่คนไทยรู้จักกันในนาม “ท้าวเวสสุวรรณ” หรือในทางฮินดู คือ “ท้าวกุเวร” ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่จตุมหาราชหรือจตุโลกบาล เทพผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา หรือสวรรค์ชั้นแรก ที่ใกล้โลกมนุษย์มากที่สุด มีหน้าที่ปกครองบรรดา ยักษ์ รากษส ครุฑ กินนร กินรี รวมถึงนาค ภูตผี รากษก และเหล่าอมนุษย์ต่าง ๆ นอกจากนี้ หลายท่านยังมีความเชื่อว่า องค์ท้าวเวสสุวรรณนั้น ทรงมีความเป็นมงคลในด้านโชคลาภ โภคทรัพย์ทั้งหลาย เนื่องด้วยนามของท่านนั้นคือ เวสสะ อันแปลว่า พ่อค้า และ สุวรรณ อันแปลว่า ทอง ซึ่งสื่อความหมายถึง ทรัพย์ทั้งปวง
![](https://tojo.news/wp-content/uploads/2022/01/A4BAB25B-FC43-4C3A-B4A9-F6132E867560-768x1024.jpg)
ในมหากาพย์รามายณะ อันเป็นที่มาของรามเกียรติ์ของไทย บรรยายถึงการกำเนิดของท้าวกุเวรไว้ส่า ทรงเป็นโอรสของ พระวิศรวิสุมนี กับ นางอิทาวิทา แต่ในมหาภารตะว่า เป็นโอรสของพระปุลัสต์ ซึ่งเป็นบิดาของ พระวิศรวัส กล่าวว่า ด้วยเหตุที่ท้าวกุเวร ใฝ่ใจกับท้าวมหาพรหม เป็นเหตุทำให้บิดาโกรธ จึงแบ่งภาคเป็น พระวิศวรัส หรือมีนามหนึ่งว่า เปาลัสตยัม ซึ่งรามเกียรติ์ไทยเรียกกันว่า ท้าวลัสเตียน หรือ พระวิศวรัสซึ่งเป็นภาคหนึ่งของ พระวิศรวิสุมนี นั้น ได้นางนิกษา บุตรีท้าวสุมาลีรักษา เป็นชายา มีโอรสด้วยกัน คือ ทศกัณฐ์ กุมภกรรณ พิเภก และ นางสำมะนักขา ดังนั้นในเรื่องรามเกียรติ์จึงนับว่า ท้าวกุเวร เป็นพี่ชายต่างมารดา ร่วมบิดาเดียวกับทศกัณฐ์ ส่วนเหตุที่ท้าวกุเวรผิดใจกับผู้เป็นพ่อ เพราะไปฝักใฝ่กับท้าวมหาพรหม ซึ่งเป็นเทวดา ทำให้ผู้เป็นพ่อ คือ พระวิศรวิสุมนีโกรธ เพราะถือทิฐิว่า ตนเป็นยักษ์ เป็นเทวดาต่ำศักดิ์กว่า ไม่ควรไปยุ่งกับเทวดา ที่บนสวรรค์ชั้นสูงกว่า เห็นคนอื่นดีกว่าพ่อของตน ก็เลยแบ่งภาคออกไปมีเมียใหม่ มีลูกใหม่ ที่ท้าวกุเวร มีใจฝักใฝ่กับท่านท้าวมหาพรหมนั้น เป็นเพราะท้าวกุเวรนั้น ต้องการบำเพ็ญตบะบารมี หรือ สร้างสมความดี ด้วยการเข้าฌาน และบำเพ็ญทุกรกิริยา นานนับพันปี จนท้าวมหาพรหมโปรดปราน ประทานบุษบกให้ อันบุษบกนี้ หากใครได้ขึ้นไปแล้ว สามารถล่องลอยไปไหนมาไหนได้ตามต้องการ
![](https://tojo.news/wp-content/uploads/2022/01/S__32079904-712x1024.jpg)
เดิมทีนั้น ท้าวกุเวรครองกรุงลงกา ซึ่งมีพระวิศวกรรม เป็นผู้สร้างให้ แต่นางนิกษา ได้ยุยงให้ทศกัณฐ์ ชิงกรุงลงกา มาจากท้าวกุเวร ทั้งยังชิงเอาบุษบกที่พระพรหมได้ประทานแก่ท้าวกุเวรมาด้วย ซึ่งบุษบกนี้มีความวิเศษสามารถให้ลอยไปไหนมาไหนได้ดังใจนึก แต่มีข้อห้ามมิให้หญิงที่ถูกสมพาส (แปลว่า การอยู่ร่วม การร่วมประเวณี) จากชาย ๓ คน นั่ง ซึ่งต่อมานางมณโฑ ได้นั่งบุษบก จึงทำให้บุษบกไม่สามารถลอยไปไหนมาไหนได้อีก เพราะด้วยเหตุที่ นางมณโฑ ตกเป็นหญิงที่ผ่านการสมพาสชายมาถึง ๓ คน คือ พาลี ทศกัณฐ์ และ หนุมาน เมื่อทศกัณฐ์ ให้นางมณโฑ ขึ้นนั่งบุษบกนี้ทีหลัง บุษบกจึงไม่ลอยไปไหนมาไหนได้ตามต้องการอีก กล่าวถึงเมื่อครั้งเมื่อท้าวกุเวรต้องเสียกรุงลงกาไปแล้ว ท้าวมหาพรหมได้สร้างนครให้ใหม่ ชื่อ “อลกา” หรือ “ประภา” อันตั้งอยู่ที่เขาหิมาลัย มีสวนชื่อ “เจตรรถ” อยู่บนเขามันทรคีรี อันเป็นกิ่งแห่งเขาพระสุเมรุ บ้างก็ว่า ท้าวกุเวร อยู่ที่เขาไกรลาส ซึ่งพระวิษณุกรรมเป็นผู้สร้างให้ ด้วยเหตุแห่งการบำเพ็ญตบะบารมีและยึดมั่นในคุณงามความดี ท้าวกุเวร จึงได้รับพรจากพระพรหมให้เป็นอมฤต (ไม่ตาย) และเป็นเจ้าแห่งทรัพย์ นอกจากนี้ท่านยังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นหนึ่งจตุโลกบาล ผู้พิทักษ์และบำรุงแห่งอุดรทิศ ท้าวกุเวรนี้ มีนามที่เรียกขานกัน
![](https://tojo.news/wp-content/uploads/2022/01/B056A96B-4746-4181-9013-3FD085848D15-768x1024.jpg)
ท้าวเวสสุวรรณ-ท้าวกุเวรที่ปรากฏในพุทธศาสนา
จากการศึกษาพระไตรปิฎกฉบับ มหามกุฏราชวิทยาลัย (๒๕๕๒) พบว่า ในพระไตรปิฎก/ พระสุตตันตปิฎก/ทีฆนิกาย/ปาฏิกวรรค/อาฏานาฏิยสูตร บรรยายว่าพระนามท้าวเวสสุวัณเป็น “ตำแหน่ง” ของเทพบุตร ซึ่งสถิตย์อยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งต่อมาได้ครองราชสมบัติในชื่อ วิสาณะ จึงเรียกว่าท้าวเวสสุวัณ มีตำแหน่งในการดูแลสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาซึ่งอยู่ในความปกครองของสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ท่านเป็นใหญ่ในยักษ์มีหน้าที่ปกครองยักษ์และรากสกทั้งปวง แต่หากค้นความของท้าวกุเวรในทางพุทธศาสนานั้นก็ปรากฏความว่า ครั้งอดีตกาลพราหมณ์คนหนึ่งชื่อกุเวรพราหมณ์ ในศาสนาพุทธ รู้จักกันมากในนามว่า ท้าวเวสสวัณ หรือ ท้าวเวสสุวรรณ เป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาล อดีตชาติของท่านในยุคสมัยของพระกัสสปพุทธเจ้า ท้าวกุเวรเกิดเป็นพราหมณ์ ชื่อ กุเวรพราหมณ์ เขามีไร่อ้อยจำนวนมาก และมีหีบหนีบน้ำอ้อยถึง ๗ หีบ ทำให้เขามีรายได้มาก จนเขาร่ำรวยขึ้น เขาได้สร้างศาลาที่พักในเมืองถึง ๑๐ แห่ง และแจกน้ำอ้อยแก่ผู้ที่มาพัก และได้ทำทานตลอดชีวิต เป็นเวลา ๒๐,๐๐๐ ปี ตามอายุขัยของคนยุคนั้น ด้วยอานิสงค์ดังกล่าว เมื่อสิ้นชีพจึงได้ไปเกิดเป็นท้าวกุเวร มีผิวกายดั่งสีน้ำอ้อย ปกครองพวกยักษ์ อยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ทางด้านทิศเหนือ นอกจากนี้ท้าวกุเวรยังมีกระบอง ชื่อว่า มหากาล ที่สามารถทำลายล้างโลกธาตุได้อีกด้วย ในทางพุทธศาสนา ฝ่ายวัชรยาน ท้าวกุเวร มีนามว่า พระชัมภละ ถือเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ส่วนในศาสนาเชนจะเรียกเทพองค์นี้ว่า ศารวนุภูติ (Sarvanubhuti) มี ๔ พักตร์ ๘ กร กายสีรุ้ง ทรงช้างเป็นพาหนะ ด้วยเหตุที่ท้าวกุเวรทรงสถิตย์อยู่ในจตุโลกบาล กล่าวกันว่า ท้าวกุเวรและท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่นั้น จะคอยตรวจดูและรักษาความเป็นอยู่ของมนุษย์ ท่านจะเสด็จจากสวรรค์ลงมาดูแลความเป็นอยู่ของมนุษย์ด้วยองค์เอง ในวันธรรมสวนะ ๑๕ ค่ำ ท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวรรณทรงสถิตอยู่ในตำแหน่งจตุโลกบาล ดูแลรักษาบำรุงประเทศชาติและปวงประชาให้อยู่เย็นเป็นสุข นอกจากนี้ยังเชื่อว่า ท่านและจตุโลกบาลอีกทั้งสี่เป็นผู้ดลบันดาลให้ฟ้าฝนตกต้องถูกต้องตามฤดูกาล หากประเทศใด แผ่นดินใด ปวงประชาแลผู้คนทั้งปวงตั้งมั่นในสุจริตธรรม ศรัทธาแลบำรุงพระศาสนา มีความมั่นคงแน่นแฟ้นด้วยสามัคคีธรรม ท่านและจตุโลกบาลทั้งปวงก็จะคอยพิทักษ์รักษาประเทศชาติ ดลบันดาลให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล แลบำรุงให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขนั่นเอง
คาถาบูชาท้าวกุเวร-ท้าวเวสสุวรรณ
“อิติปิ โส ภะคะวา ยมมะราชาโน ท้าวเวสสุวรรณโณ มะระณัง สุขัง อะหัง สุคะโต นะโม พุทธายะ ท้าวเวสสุวรรณโณ จาตุมะหาราชิกา ยักขะพันตาภัทภูริโต เวสสะ พุสะ พุทธัง อะระหัง พุทโธ ท้าวเวสสุวรรณโณ นะโม พุทธายะ”
ทั้งนี้นอกจากการบูชากราบไหว้ และกล่าวพระคาถาบูชาดังกล่าวแล้ว หากผู้บูชาประพฤติแต่คุณงามความดี ยึดมั่นในศีลธรรม รักษาศีล และมีความขยันหมั่นเพียร ไม่ประมาทในกิจการงานทั้งปวงแล้ว ท่านย่อมได้รับผลเป็นสิริมงคลต่อการดำเนินชีวิต กิจการงาน และบังเกิดความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป
_____________________________________________________________________________
อ่านบทความอื่น ๆ
ไหว้แม่ย่านาง จำเป็นจริงหรือ
You must be logged in to post a comment Login