Connect with us

Health

วัคซีนป้องกัน โควิด-19 กับภูมิคุ้มกันหมู่(Herd Immunity)

Published

on

โดย ศ.นพ. ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์

ประเทศไทยกำลังจะเริ่มระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกันแล้ว ก็ถึงเวลามาทำความรู้จักกับ ภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd immunity กันให้มากกว่านี้

ภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd immunity คืออะไร

เวลาเกิดโรคระบาดออกไปเรื่อยๆ แสดงว่า ผู้ติดเชื้อ 1 คนส่งถ่ายเชื้อโรคทำให้คนอื่นติดเชื้อได้มากกว่า 1 คน
ถ้าส่งได้น้อยกว่า 1 คน จำนวนผู้ติดเชื้อก็ลดลงเรื่อยๆในที่สุดก็หมดไปเอง
ถ้าส่งได้มากกว่า 1 คน เล็กน้อย ก็จะค่อยๆระบาดไปช้าๆถ้ายิ่งมากกว่า 1 คนมาก ก็จะระบาดได้รวดเร็วมาก


ตัวเลขนี้สำคัญจึงมีชื่อเรียกว่า R(มาจาก reproductive rate) ตัวเลขนี้ขึ้นกับว่า
ในชุมชนนั้นๆ มีคนที่มีภูมิคุ้มกันอยู่แล้วกี่ % ยิ่งมีมากค่า R ก็ยิ่งน้อยลง
ถ้าในชุมชนที่การระบาดเพิ่งเริ่ม ยังไม่มีใครมีภูมิฯเลย เราจะเรียกค่า R ตรงนั้นว่า Ro
(อ่านว่า อาร์ ศูนย์ ชื่อเต็มว่า basic reproductive rate) ค่า Ro
ขึ้นกับความสามารถในการแพร่กระจายของเชื้อเป็นหลัก
– ของไข้หวัดใหญ่ ประมาณ 1.4 ส่วน
– ของโรคโควิด19 อยู่ประมาณ 2.4-3.4
– ส่วนหัด ประมาณ 12-18
ปัจจุบันหัดไม่ระบาดเพราะคนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแล้ว ทำให้ค่า R ในปัจจุบันลดลงเหลือต่ำกว่า 1 ในประวัติศาสตร์
ทุกครั้งที่หัดแพร่เข้าสู่สังคมที่ไม่เคยพบมันมาก่อน ก็ระบาดรุนแรงทุกครั้ง แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มีภูมิฯต่อหัดด้วยวัคซีนแล้ว จึงไม่ค่อยพบการระบาดอีก
แต่คำว่า “ส่วนใหญ่” คือแค่ไหน ตัวเลขนี้ก็สำคัญเช่นกัน จึงมีชื่อเรียก ว่า herd immunity หรือ ภูมิคุ้มกันหมู่
เราหวังว่า จะเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันกับโรคโควิด19 เมื่อคนส่วนใหญ่มีภูมิฯแล้ว แต่ต้องใช้ภูมิคุ้มกันหมู่กี่ % จะหยุดการระบาดได้
ปรากฎว่า มีสมการคณิตศาสตร์ง่ายๆคำนวณได้จากค่า Ro (คือ = 1- 1/Ro) สำหรับ โรคโควิด-19 คือ ภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นเมื่อคนประมาณ 60-75% มีภูมิฯ ขึ้นกับ Ro จริงๆเป็นเท่าไรที่จริงค่า Ro แตกต่างไปในแต่ละสังคมชุมชน ขึ้นกับวิธีใช้ชีวิต ค่า Ro ที่อ้างกันข้างบนมาจากสถานการณ์ที่คนใช้ชีวิตปกติแบบเก่า


เราจึงพูดถึง new normal ซึ่งหมายถึงว่า วิถีชีวิตที่ทำให้ Ro น้อยกว่าเดิม เช่น ต่ำกว่า 2 แต่ไม่น่าเป็นไปได้ว่า
วิถีชีวิตใหม่ใดๆ จะทำให้ค่า Ro ลดลงไปต่ำกว่า 1 ได้ แปลว่า หากฝันจะกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติแบบเก่า เราต้องทำให้คนประมาณ 60-75% มีภูมิฯ ต้องคิดเผื่อวัคซีนได้ผลไม่เต็มร้อยด้วย
รวมๆแล้วก็คาดว่า น่าจะต้องฉีดคนประมาณ 50 ล้านคน คนละสองเข็ม คนที่ฉีดได้เข็มเดียวไม่นับ 50
ล้านนี้นับเด็กด้วยไหม นับด้วย แต่ฉีดผู้ใหญ่จะได้ผลลดการแพร่กระจายของโรคดีกว่า จึงเน้นผู้ใหญ่ก่อน
ก่อนครบ 50 ล้าน โรคก็ยังแพร่กระจายต่อไป ต้องใช้มาตรการอื่นๆควบคุมไปพลางแล้วเราจะได้กลับไปใช้ชีวิตปกติเหมือนเดิม

ภาพจาก BBC


หลังการฉีดจนครบเมื่อสิ้นปีใหม่โดยส่วนตัว ผมถือว่า นี่ถือเป็นความหวังดีของรัฐบาล แต่ก็ยังมีอุปสรรคขวางทางอีกมาก หากไม่นับเรื่องซื้อวัคซีนไม่ได้ หรือฉีดไม่ทันตามแผน แล้วยังมีอีกสี่เรื่องสำคัญ ได้แก่
– เรื่องแรก คนจำนวนหนึ่งลังเลไม่ยอมฉีด รัฐบาลพลาดท่าส่วนนี้ไปแล้วในการประกาศว่า ไม่มีวัคซีนก็ไม่เป็นไร ควบคุมโรคได้ คนจำนวนหนึ่งเชื่อเอาจริงๆ เมื่อมีข่าวเรื่องผลข้างเคียงแถมเข้ามา หลายคนก็เลือกร้องเพลงรอไปก่อน ที่เป็นหมอพยาบาลก็ยังมี ทุกวันนี้ ก็ต้องคอยเกลี้ยกล่อมให้คนฉีดวัคซีน
– เรื่องที่สอง คือ วัคซีนจะไม่ได้ผลตลอดไป ยังไม่ทราบว่า ภูมิฯจากวัคซีนจะอยู่ได้นานเท่าไร เรื่องนี้อาจทำให้ต้องมีการฉีดเข็มสาม เมื่อถึงเวลา
– เรื่องที่สาม คือ การกลายพันธุ์ วัคซีนที่มีอยู่ส่วนใหญ่ป้องกันเชื้อสายพันธุ์อัฟริกาใต้ (และน่าจะเป็นสายพันธุ์บราซิลด้วย)ได้น้อย จนไม่น่าจะหยุดการระบาดของสองสายพันธุ์นี้ได้ อาจต้องมีวัคซีนใหม่ หรือก็มีความพยายามจะทดลองว่า ฉีดเข็มที่สามจะช่วยหรือไม่ ต้องดูต่อไป
– เรื่องที่สี่ เรายังไม่แน่ใจว่า วัคซีนป้องกันการแพร่เชื้อได้ดีเท่าป้องกันการป่วยหรือไม่ ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้คำนวณกัน ความจริงเป็นตัวเลขการป้องกันการป่วย เรานำมาใช้ เพราะยังไม่มีตัวเลขประสิทธิภาพการป้องกันการแพร่เชื้อ ยิ่งไปกว่านั้นตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขที่วัดที่ต่างประเทศ ก็ไม่แน่ใจว่า ใช้ในประเทศไทยได้ผลต่างกันไปไหมยังมีเรื่องต้องเรียนรู้ ศึกษา วิจัยอีกมาก จึงจะควบคุมโรคนี้ได้
HOPE FOR THE BEST, PREPARE FOR THE WORST.

ภาพจาก https://elements.envato.com

ศ.นพ. ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์
รักษาการรองผู้อำนวยการ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: