Connect with us

Environment

ปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 66 ในพื้นที่ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง เนื่องจากเป็นฤดูที่ปลามีไข่

Published

on

หวังให้ปลาและสัตว์น้ำทะเล ได้มีโอกาสเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์เต็มที่

กรมประมง…ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2566 ในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2566 เผยจากผลสำรวจในปี 2565 พบสัตว์น้ำวัยอ่อนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิดในช่วงมาตรการฯ มีความชุกชุมมากกว่าช่วงก่อนมาตรการฯ ถึง 2 เท่าตัว สะท้อนความเหมาะสมทั้งช่วงเวลาและพื้นที่ที่มีการบังคับใช้มาตรการฯ จึงคงพื้นที่ ห้วงเวลา และเครื่องมือตามมาตรการเดิมไว้

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากนโยบาย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีบทบาทในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องถิ่นและใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่พี่น้องชาวประมง ตามแนวทางสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืน

กรมประมงจึงได้มีการประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2528 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายนของทุกปี ในบางส่วนของพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ควบคู่ไปกับการรวบรวมและวิเคราะห์ผลการศึกษาทางวิชาการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำมาปรับปรุงมาตรการให้สอดคล้องกับสภาวะของทรัพยากรสัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อม และสังคมในปัจจุบัน

ผลการศึกษาทางวิชาการในช่วงการประกาศใช้มาตรการฯ ปี 2565 พบว่าสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิด มีความสมบูรณ์เพศสูง (ร้อยละ 90 – 100) โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายนพบสัตว์น้ำวัยอ่อนมีความหนาแน่นสูงสุดถึง 1,197 ตัว/1,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าช่วงก่อนประกาศใช้มาตรการฯ ที่มีความหนาแน่นเพียง 470 ตัว/1,000 ลบ.ม. อีกทั้ง ข้อมูลขนาดสัตว์น้ำที่จับได้จากเครื่องมือประมงที่อนุญาตให้ใช้ในช่วงประกาศใช้มาตรการฯ เช่น อวนกุ้งและอวนปู พบว่ามีขนาดเหมาะสม โดยมีขนาดความยาวมากกว่าความยาวแรกสืบพันธุ์ เป็นการยืนยันได้ว่ามาตรการที่ใช้มีความสอดคล้องกับผลการศึกษาทางวิชาการทั้งในด้านพื้นที่และช่วงเวลาในมาตรการฯ ว่ามีความถูกต้อง และเหมาะสมกับฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และยังเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำเพื่อคงความสมดุลทางธรรมชาติอีกด้วย

ดังนั้น กรมประมงจึงประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามันประจำปี 2566 ในเขตพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ตั้งแต่ปลายแหลมพันวา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ถึงปลายแหลมหยงสตาร์ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ครอบคลุมพื้นที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2566 ตามประกาศฯ และกำหนดชนิดของเครื่องมือประมง วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขที่สามารถทำการประมงได้ในช่วงประกาศใช้มาตรการฯ ดังนี้
1. เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ ที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 14 เมตร และต้องทำการประมงในเวลากลางคืนนอกเขตทะเลชายฝั่ง
2. เครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตัก ทำการประมงเฉพาะในเวลากลางวัน และต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
3. เครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีขนาดช่องตาอวน ตั้งแต่ 4.7 เซนติเมตรขึ้นไป มีความยาวอวน ไม่เกิน 2,500 เมตรต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และเครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีช่องตาอวนตั้งแต่ 4.7 เซนติเมตรขึ้นไป มีความยาวอวนเกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
4. เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง อวนหมึก
5. เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
6. ลอบปูที่มีขนาดตาอวนโดยรอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป ใช้ทำการประมงไม่เกิน 300 ลูก ต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และลอบปูที่มีขนาดช่องตาท้องลอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
7. ลอบหมึกทุกชนิด
8. ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้านในเขตทะเลชายฝั่ง
9. คราดหอยที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 18 เมตร มีความกว้างของปากคราดไม่เกิน 3.5 เมตร ช่องซี่คราดไม่น้อยกว่า 1.2 เซนติเมตร และจำนวนของเครื่องมือคราดหอยต้องไม่เกิน 3 อัน (หน่วย) ต่อเรือกล 1 ลำ ที่ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง รูปแบบ และพื้นที่ทำการประมงของเครื่องมือคราดหอยที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
10. อวนรุนเคย โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ออกตามความในมาตรา 68 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558
11. จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก แผงยกปูจักจั่น
12. เครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง
13. การใช้เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงอื่นใดที่ไม่เป็นเครื่องมือประมงพาณิชย์ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดให้การใช้เรือประมงทุกขนาดประกอบเครื่องมือทำการประมงบางประเภทเป็นประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2560 และต้องไม่เป็นเครื่องอวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) และต้องไม่เป็นเครื่องมือที่ถูกห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมงและพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560

ทั้งนี้ การทำการประมงโดยใช้เครื่องมือในข้อ 3 , 4 , 5 , 6 และ 7 จะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 และจะต้องไม่เป็นเครื่องมือที่ห้ามใช้ทำการประมง ตามมาตรา 67 69 หรือ 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงขอเน้นย้ำให้พี่น้องชาวประมงให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และระมัดระวังการทำประมง โดยให้ทำประมงเฉพาะเครื่องมือที่ประกาศให้ใช้ได้เท่านั้น เครื่องมืออื่น ๆ ห้ามทำโดยเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสามสิบล้านบาท

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครอง

“กรมประมงต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงทุกคนที่ให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐในการปฎิบัติตามกฎหมายในมาตรการปิดอ่าวทะเลอันดามัน มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน และเกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพประมงต่อไป”นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้าย

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: