Connect with us

Blog

ไก่ทอดเกาหลีและเบียร์ : จากวัฒนธรรมของผู้มาเยือน สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

Published

on

ก่อนกลายมาเป็นอาวุธสำคัญในการสร้างรายได้ให้ธุรกิจของประเทศเกาหลี

แฟน Serie เกาหลีที่ได้ชมหนังเกาหลีในช่วง 4-5 ปีหลังมานี้ คงจะคุ้นเคยกันดีกับฉากการกินอาหารเกาหลีในภาพยนตร์ และอาหารที่ถูกนำมาฉาย(อย่างตั้งใจ)มากที่สุด คงจะหนีไม่พ้น “ไก่ทอด” และ “เบียร์” 

ทั้งนี้การนำบทละครที่มีฉากเหล่านั้น มิใช่ความบังเอิญหรือผู้กำกับแค่ต้องการใส่ฉากสังสรรค์เข้ามาเท่านั้น แต่การกระทำทุกอย่างล้วนแต่เป็นความจงใจตามแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของเกาหลีทั้งสิ้น

รูปจาก : https://www.koreafanclub.com/ร้านอาหารซูวอน/jinmi-chicken/

.

จุดเริ่มวัฒนธรรม “ไก่” และ “เบียร์” (Chimaek)

.

คนเกาหลีในอดีต เมื่อต้องการกินไก่ นิยมนำมาต้มหรือทำเป็นน้ำซุปเพื่อซดดื่ม แต่วัฒนธรรมการกินไก่ทอดกรอบนั้น ได้เข้ามาพร้อมกับทหารอเมริกันในช่วงสงครามเกาหลี ปี ค.ศ. 1950-1953

เมื่อเกาหลีเริ่มฟื้นสภาพทางเศรษฐกิจหลังสงคราม วัฒนธรรมการกินไก่ทอดกรอบแบบอเมริกัน ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นวัฒนธรรมดังกล่าวก็ยังไม่ได้มีเอกลักษณ์โดดเด่นถึงขั้นส่งผลต่อชาติอื่นๆ

จนเมื่อเข้าสู่ช่วงฟุตบอลโลกปี 2002 ที่จัดขึ้นที่เกาหลี-ญี่ปุ่น ไก่ทอดเกาหลีได้กลายมาเป็นของที่นิยมกินคู่กันกับเบียร์ในระหว่างชมการแข่งขันฟุตบอล

หลังจากนั้นวัฒนธรรมการกินไก่ทอดเกาลีคู่กันกับเบียร์ก็ได้เริ่มขึ้น โดยมีชื่อเรียกว่า “Chi-Maek” (치맥) ซึ่งมาจาก Chikin (치킨) ซึ่งแปลว่า ไก่ ผสมกับคำว่า Maekju (맥주) ที่แปลว่า เบียร์

ภายหลังปี 2002 ได้เกิดร้านแฟรนไชน์ไก่ทอดเกาหลีอย่าง BonChon ขึ้นในสหรัฐอเมริกา เพื่อรองรับความต้องการของชุมชนเกาหลีในสหรัฐฯ ก่อนที่จะได้รับความนิยม และขยายสาขาไปทั่วสหรัฐฯ

แต่ถึงกระนั้น วัฒนธรรมการกินไก่ทอดเกาหลีกับเบียร์ ก็ยังไม่ได้ถุกนำมาฉายภาพอยู่ในภาพยนต์หรือวัฒนธรรมร่วมสมัยแบบที่เห็นกันในปัจจุบัน

.

พัฒนาการสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

.

จนเมื่อปี ค.ศ. 2012-2013 รัฐบาลเกาหลีได้ประกาศยุทธศาสตร์ชาติ ว่าจะนำเกาหลีเข้าสู่ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) ซึ่งไปในทุกมิติทั้งอุตสาหกรรมบันเทิง อาหาร เวชภัณฑ์ และการท่องเที่ยว

ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นเรื่องยากที่คนจะนิยมอาหารการกินที่แตกต่างจากลักษณะที่ตนคุ้นเคย และเกาหลีไม่ได้มองว่าต้องนำของโบราณของตนมาพยายามขายให้กับคนต่างวัฒนธรรม 

เกาหลีจึงมองไปที่วัฒนธรรมการกินร่วมสมัยอย่าง “ไก่ทอด” และ “เบียร์” 

ซึ่งสามารถเจาะตลาดไปในหลากหลายวัฒนธรรม ทั้งที่ไม่กินเนื้อวัวและเนื้อหมู ก่อนจะเริ่มยุทธศาสตร์การฉายภาพวัฒนธรรมดังกล่าวลงไปในภาพยนตร์ที่ส่งออกไปทั่วโลก

.

การออกแบบเพื่อสร้างความแตกต่าง

.

ในขณะที่แบรนด์ดังจากสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ครองตลาดอยู่เดิม เกาหลีจึงจำเป็นต้องหาจุดเด่นที่แตกต่าง เพื่อเอาชนะเจ้าตลาดเดิม 

ไก่ทอดเกาหลีนั้นมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากไก่ทอดของสหรัฐอเมริกา อย่าง KFC หรือ McDonald ตรงที่แม้จะเป็นไก่ทอดกรอบเหมือนกัน แต่ไก่ทอดเกาหลีได้ทำการผสมผสานสิ่งเฉพาะตัวในวัฒนธรรมการกินของชาติตนเข้าไป นั่นก็คือ “ซอส”

ซอสที่ว่าไม่ได้เป็นซอสในลักษณะที่นำมาจิ้มเพื่อตัดหรือเสริมรสชาติ แต่เป็นซอสที่นำลงไปคลุกเคล้ากันกับผิวของไก่ทอดโดยตรง คล้ายกันกับ Buffalo Wing ของสหรัฐอเมริกา

หากแต่ซอสที่เกาหลีนำมาใช้นั้น เป็นรสชาติแบบที่เกาหลีภูมิใจนำเสนอ คือ 

 “รสเผ็ด” ที่ได้จากพริกและพืชที่นำมาทำกิมจิหรือซอสในแบบเกาหลี 

นอกจากนั้นไก่ทอดเกาหลียังกินคู่กับเครื่องเคียงหลากหลายไม่ว่าจะกิมจิ ไชเท้าดอง หรือพืชผักที่ตัดความเลี่ยนของไก่ ซึ่งต่างจากไก่ทอดของตะวันตกที่นิยมกินคู่กับเฟรนช์ฟรายหรือมันฝรั่งทอด

ในขณะที่เกาหลีเองก็ไม่ได้จำกัดเครื่องดิ่มอยู่แค่ “เบียร์” แต่ได้เริ่มนำเสนอ “โซจู” (소주) หรือเหล้าเกาหลีที่มีรสชาติต่างๆ เพื่อทำตลาดให้เข้ากับนักดื่มที่เป็นผู้หญิง ซึ่งมักชอบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รสชาติเบาๆ ที่มีกลิ่นผลไม้ หรือออกหวานหน่อยๆ

ด้วยการออกแบบต่อยอดวัฒนธรรมดังกล่าว ให้มีจุดเด่น ให้มีลักษณะเฉพาะตัวและเข้าถึงได้ง่าย โดยอาศัยอุตสาหกรรมบันเทิงในฐานะ “เครื่องมือ” ที่ใช้ส่งออกวัฒนธรรมดังกล่าว ทำให้ “ไก่ทอด” และ “เบียร์/โซจู” ของเกาหลี ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

.

จากวัฒนธรรมสู่การสร้างรายได้อย่างมหาศาล

.

ในปี 2014 เมื่อภาพยนตร์ Serie เรื่อง “My Love From the Star” ได้เข้าฉายในประเทศจีน ได้ทำให้เกิดกระแสความนิยมการกินไก่ทอดและเบียร์/โซจูขึ้นมาในประเทศจีน 

หรือตัวอย่างเช่น ช่อง Youtube ของชาวอังกฤษที่ชื่อ 영국남자 Korean Englishman ซึ่งมีผู้ติดตามเกือบ 4 ล้านคน ได้นำเสนออาหารเกาหลีที่น่าสนใจจำนวนมาก และหนึ่งในนั้นก็คือ ไก่ทอดเกาหลีกับเบียร์ ซึ่งได้สร้างความตื่นตะลึงและประทับใจในความอร่อยลงตัวให้กับชาวอังกฤษเป็นอย่างมาก

และเป็นกลไกทั่วไปของหลักการตลาด เมื่อคุณยอมรับสิ่งหนึ่งในวัฒนธรรมที่แตกต่างได้อย่างชื่นชมยินดี คุณจะเริ่มเปิดใจให้กับอีกหลายสิ่งที่ตามมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากวันนี้คุณจะเห็นชาวตะวันตกเริ่มยอมรับและนิยมวัฒนธรรมการกินแบบเกาหลีมากขึ้นเรื่อยๆ

จากไก่ทอดที่เป็นวัฒนธรรมของคนต่างถิ่น ก่อนจะถูกพัฒนาและต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการส่งเสริมในระดับยุทธศาสตร์ชาติ จนกลายมาเป็นอาวุธสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจของเกาหลีไปทั่วโลกดังที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

และในปัจจุบันภาพยนตร์เกาหลีเรื่องต่างๆ ก็ยังคงฉายภาพซ้ำในการกิน-เสพ สินค้า อาหาร และวัฒนธรรมเกาหลีอย่างไม่หยุดหย่อน

รูปจาก : http://seoulcafe2013.blogspot.com/2013/10/blog-post_25.html

.

บรรณานุกรมประกอบ:

– https://bonchon.com/

– https://www.culturepartnership.eu/en/article/how-korea-is-transforming-into-a-creative-economy

– https://www.wsj.com/articles/BL-CJB-20845

– https://www.youtube.com/user/koreanenglishman/videos

#TOJONEWS #โตโจ้นิวส์ #TOJOColumnist

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: