เริ่มตอนที่ 2 ด้วยคำถาม
ทราบมั้ยครับ เมืองไม่ได้เรียบเหมือนแผ่นกระดาน แต่เป็น terrain ขึ้นลง แต่ก่อนนั้นน้ำผ่านตรงที่มันเตี้ย บรรพบุรุษเราก็ไปสร้างบ้านตรงที่มันสูง น้ำมาก็อยู่ได้ ปารีสก็แบบนี้ ลอนดอนก็แบบนี้ มีผัง terrain เมืองให้ประชาชนเข้าไปดูว่าตรงไหนควรสร้างบ้านเพราะเป็นที่สูง ตรงไหนไม่ควรสร้างบ้านเพราะเป็นที่ต่ำ แล้วการออกแบบผังเมืองก็ล้อตามนั้น
รูปจาก PPTV36
แต่ผังเมืองกรุงเทพแบบระบายสีนั่น ใครมองผังก็นึกว่ากรุงเทพเป็นเหมือนกระดาษแบนๆแผ่นนึง จะระบายสีไปตรงไหนก็ว่ากันตามใจ ตรงที่เคยเป็น floodway ก็มีหมู่บ้านไปขวาง ตรงที่สูงที่ควรเป็นย่านความหนาแน่นสูงขึ้นตึกไปเลย 80 ชั้น 100 ชั้น กลับกลายเป็นหมู่บ้านแบนๆความหนาแน่นต่ำไปกองตรงนั้น
จากเหตุที่ 40-50 ปีที่ผ่านมาไม่มีใครสนผังเมืองเลยจะเอาฝรั่งมาออกแบบ จะเอาในหลวงมาพูด แต่ก็ไม่ฟังกัน รถถึงติด น้ำถึงท่วม ฟุตบาทถึงเดินไม่ได้ โรงเรียนถึงไกลบ้าน
แล้วทางแก้คืออะไร?
ข้อเสนอคือแก้ผังเมืองด้วยวิธีที่เป็นสากล วิธีที่เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาบริษัทอสังหามาเป็นตัวตั้งครับ
ลองนึกถึงเมืองนอก
โรงเรียนใกล้บ้าน ร้านค้าใกล้บ้าน ทำงานใกล้บ้าน จะ 10 นาที จะ 30 นาที ตีวงไป อย่าเกิน 3 กม. อย่าเกิน 10 กม. จากบ้าน และที่สำคัญ การเดินทางต้องมีทางเลือกครับ ไม่ใช่มีแค่ขับรถ หรือนั่งรถไฟฟ้าราคาแพงๆ แต่คนต้องเดินได้ เมืองต้องรองรับการเดิน การวิ่ง การปั่นจักรยาน (walkable city) โดยทั้งหมดนี้ มีต้นไม้คลุมตลอดทางเหมือนสิงคโปร์ ไซ่ง่อน เซี่ยงไฮ้
การทำผังเมืองแบบนี้เรียกว่า “District Oriented Development” มองการพัฒนาเมืองจากเขต คิดเมืองให้เป็นย่าน โดยให้เขตเป็นศูนย์กลางของตัวเอง ครบ จบในตัวเอง โดยใช้กระบวนการด้านภูมิสถาปัตย์มาช่วยด้านน้ำท่วม น้ำไม่ท่วม จะสร้างพื้นที่ฟองน้ำตรงไหน แก้มลิง หลุมขนมครก หรือไม่ให้สร้างหมู่บ้านตรงไหน
ลองนึกถึงหนังเมืองนอกครับ
เด็กเดินไปเรียนได้ หรือไม่เต็มที่ก็เดินทางด้วยรถโรงเรียนใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที
พ่อแม่ไปทำงาน ก็ใช้ขนส่งมวลชนในเขต ไม่เกิน 15-30 นาทีจากหน้าบ้าน มีร้านค้า โรงพยาบาล สวนสาธารณะ แก้มลิงรับน้ำท่วม พื้นที่กิจกรรมครบจบในตัว
ไม่ใช่บ้านอยู่แจ้งวัฒนะ ขับรถจากบ้าน 6 โมงเช้ามาส่งลูกศรีย่าน แล้วขับต่อมาทำงานสีลม เดินทางเป็น 3 เหลี่ยม รถถึงติด เด็กก็ไม่ได้พัก หน้าฝนกลับบ้าน เจอน้ำท่วม เพราะตอนซื้อบ้านนั่นไม่มีใครบอกว่าหมู่บ้านเป็นที่ต่ำ ต่อให้ถมหมู่บ้านสูง ทางเข้ารอบๆน้ำก็ท่วมมิดรถอยู่ดี หนีไม่พ้น คนกรุงเทพวันนี้โดนแบบนี้ครับ
สำหรับคำถามว่า เฮ้ย ผังเมืองกรุงเทพมันพังมาขนาดนี้แล้ว ถ้ามาเปลี่ยนการออกแบบผังเมืองให้กลับมาถูกต้อง แล้วจะช่วยได้เหรอ?
คำตอบคือช่วยได้ และช่วยได้มากครับ
การปรับผังเมืองให้เป็น district oriented development + ให้ความสำคัญด้านภูมิสถาปัตย์อย่างจริงจัง จะทำให้การพัฒนาอสังหายุคใหม่เป็นไปอย่างถูกที่ถูกทางขึ้น
เช่น จุดที่ไม่ควรสร้างตึกความหนาแน่นสูง แต่ดันสร้างไปแล้ว ก็ออกกฎหมายไม่ให้กลับมามีความหนาแน่นแบบนี้อีกในการปรับปรุงสภาพในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ส่วนในเขตที่ยังมีพื้นที่พัฒนาได้ก็ทำให้ถูกต้องซะ ทำแบบนี้อย่างน้อยในเขตใหม่ๆ รวมถึงเขตเก่าๆที่ทำผิดไปแล้ว อีก 10-30 ปีข้างหน้าก็จะดีขึ้นเอง
แก้ไขวันนี้ ให้กรุงเทพค่อยๆดีขึ้น ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะเห็นว่าที่ผังเมืองกรุงเทพฉบับใหม่แล้ว ปวดใจครับ ผังเมืองพังต่อเนื่องมา 40-50 ปี ก็ยังทำแบบเดิม
ปวดใจซ้ำซ้อนแทนคนกรุงเทพจริงๆครับ
รูปจาก PPTV36
รูปจาก PPTV36
เขียนโดย : พงศ์พรหม ยามะรัต (ที่ปรึกษาการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านนวัตกรรมและอนาคตศาสตร์)
You must be logged in to post a comment Login