ปัจจุบันนี้การผ่าตัดคลอดมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ การศึกษาและการประมวลผลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO พบว่าการผ่าตัดคลอดนั้นก่อให้เกิดอันตรายต่อมารดาและทารกทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้สูงกว่าการคลอดทางช่องคลอด และยังทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้น รวมทั้งเกิดความสิ้นเปลืองของทรัพยากรอื่น ๆ
อย่างไรก็ตามยังไม่มีการกำหนดถึงอัตราการผ่าตัดคลอดที่เหมาะสมที่ยอมรับกันทั่วโลก เพราะอัตราดังกล่าวขึ้นกับบริบทและสถานการณ์ของแต่ละประเทศ การศึกษาในประเทศไทยพบว่าอัตราการผ่าตัดคลอดในสถานพยาบาลของรัฐในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์สูงประมาณร้อยละ 40 – 50 และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรหลักของประเทศในการกำกับดูแลด้านวิชาการและมาตรฐานวิชาชีพสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ขอประกาศจุดยืนเกี่ยวกับการผ่าตัดคลอดในประเทศไทย ดังต่อไปนี้
การผ่าตัดคลอด ควรทำในรายที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ คือเมื่อทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้อย่างปลอดภัย หรือมารดามีภาวะแทรกซ้อนขั้นรุนแรงที่จะทำให้การคลอดทางช่องคลอดมีความเสี่ยง
ประชาชนควรทราบว่า การผ่าตัดคลอดมีความเสี่ยงต่อทั้งมารดาและทารกมากกว่าการคลอดทางช่องคลอด ซึ่งอาจจะเป็นผลที่เกิดจากการผ่าตัดหรือการให้ยาระงับความรู้สึก
ก่อนการผ่าตัดคลอด สตรีตั้งครรภ์ทุกราย ควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและเหมาะสมเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของการผ่าตัดคลอดจากบุคลากรทางการแพทย์จนเข้าใจดีและลงนามยินยอมเข้ารับการผ่าตัด
การผ่าตัดคลอดตามคำร้องขอของมารดา (maternal request) เป็นการผ่าตัดคลอดที่เกิดจากความต้องการของสตรีตั้งครรภ์หรือญาติโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ สูตินรีแพทย์ควรสอบถามเหตุผล รับฟังความต้องการ ภิปรายความเสี่ยงและประโยชน์ของการผ่าตัดคลอดให้สตรีตั้งครรภ์รับทราบจนเข้าใจดีแล้ว หากยังยืนยันที่จะทำผ่าตัดคลอด ให้ลงนามในเอกสารแสดงความจำนงและ ใบยินยอมรับการผ่าตัด กรณีที่สูตินรีแพทย์ไม่เห็นด้วยที่จะทำผ่าตัดคลอด ให้แนะนำหรือส่งต่อสตรีตั้งครรภ์ไปพบสูตินรีแพทย์ท่านอื่น
การผ่าตัดคลอดแบบวางแผนล่วงหน้า (scheduled elective cesarean section) เป็นการทำผ่าตัดที่มีการเตรียมการและระบุวัน เวลาไว้ชัดเจน แนะนำให้ทำผ่าตัดที่อายุครรภ์ตั้งแต่ ๓๙ สัปดาห์เป็นต้นไป
การที่แพทย์แนะนำหรือชักจูงให้สตรีตั้งครรภ์มาผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งขี้ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดถือเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมทางการแพทย์
อัตราการผ่าตัดคลอดที่เหมาะสมของแต่ละสถานพยาบาลอาจแตกต่างกัน ขึ้นกับบริบทและสถานการณ์ที่รับผิดชอบ
สถานพยาบาล หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้องควรเก็บข้อมูลการคลอดแบบ Robson classification เพื่อประโยชน์ในการประเมินและติดตามข้อมูลสำหรับการวางแผนการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น
ประกาศ ณ วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2566 โดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
ติดต่อ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
ติดตามเรา Website : o2oforum Facebook : o2oforum Line : @o2oforum Subscribe : o2oforum Tel : 0970344225, 0970347554, 0970343220, 0952156145