ข้อมูลจากเฟซบุ๊คของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย แจ้งว่า ได้มีการค้นพบ โกลนทับหลัง ชิ้นใหม่
จากการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญพบว่า โกลนทับหลัง ที่ค้นพบล่าสุดนี้ เป็น ทับหลัง ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการสลักภาพร่างและเริ่มผลิต โดยตรงกลางของทับหลัง สลักเป็นภาพสิงห์ยืนคาบท่อนพวงมาลัย ด้านบนท่อนพวงมาลัยสลักเป็นลวดลายใบไม้ตั้งขึ้น ด้านล่างสลักเป็นลายใบไม้ม้วน
จากรูปแบบศิลปะที่ถูกสลักบนทับหลัง ทำให้เราสามารถกำหนดอายุได้ว่า โกลนทับหลัง ชิ้นนี้มีอายุในราวช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 16 – 17
โดยการค้นพบโกลนทับหลังชิ้นนี้ ช่วยยืนยันข้อมูลสำคัญที่ทำให้สามารถกำหนดอายุของปราสาทได้ร่วมกับบริบทของหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ
นอกจากนี้ การพบโกลนทับหลังยังแสดงให้เห็นว่าปราสาทหลังนี้ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์
โดยมีนักวิชาการได้สันนิษฐานถึงการสลักลวดลาย ที่ไม่เสร็จสมบูรณ์ของปราสาทในวัฒนธรรมเขมรโบราณนี้ว่า
“ลวดลายที่สลักไม่แล้วเสร็จเหล่านี้ สะท้อนถึงปริมาณของช่างสลักและระบบการจัดการงานช่างได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ จำนวนช่างสลัก คงมีจำนวนไม่มากนัก ด้วยเหตุนี้จึงเกิดกระบวนการที่เรียกว่าเดินสายทำงาน เมื่อช่างจำเป็นต้องเริ่มงาน ณ ปราสาทหลังใหม่ งานของปราสาทหลังเก่าจึงยังคงค้างคาไม่แล้วเสร็จ”
สำหรับปราสาทบ้านบุใหญ่ สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา กำลังดำเนินโครงการขุดแต่งโบราณสถานปราสาทบ้านบุใหญ่ ต.สูงเนิน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา เพื่อนำข้อมูลมาเป็นแนวทางในการบูรณะปราสาทบ้านบุใหญ่ให้สวยงามและเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมที่น่าภาคภูมิใจของคนสูงเนินและคนไทยสืบไป
ขอบคุณภาพการขุดค้นจาก กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา
https://www.facebook.com/100055291974573/posts/765775861942139/?app=fbl
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
@ Phimai National Museum:พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย