เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 เวลาประมาณ 20:41 น. ที่แฟนเพจของอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัตศาสตร์ชื่อด้งของไทย ได้โพสต์บทความที่มาจากเหตุการณ์จริงเหตุการณ์หนึ่ง ในช่วงวันสำคัญของการเมืองไทย นั่นคือวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั่นเอง
( เนื้อหาด้านล่างทั้งหมดนี้ คัดลอกมาจากเพจของคุณอัษฎางค์ ยมนาค นะครับ )
พระยาอธิกรณ์ประกาศ หรือ หลุย จาติกวณิช
คุณปู่ของกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า
กับ
พลโทประยูร ภมรมนตรี บิดาของแซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี
ในเหตุการณ์ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
ที่คุณ…อาจไม่เคยรู้(ยาวมาก แต่พลาดไม่ได้อ่านแล้วจะเสียใจ)
……………………………………………………………………………
ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ไม่นาน พระยาอธิกรณ์ประกาศ(หลุย จาติกวณิช) ในฐานะอธิบดีกรมตำรวจ ได้ถวายรายงานต่อ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้รักษาพระนคร และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ถึงรายชื่อบุคคลต่าง ๆ ในคณะราษฎร ที่มีพฤติการณ์น่าสงสัยว่าจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อบ้านเมือง
แต่เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ไม่ทรงเชื่อ ด้วยทรงเห็นว่าบุคคลเหล่านี้ไม่น่ามีศักยภาพเพียงพอ
……………………………………………………………………………
ทูลกระหม่อมบริพัตร ทรงเคยได้ยินข่าวลือเรื่องคณะราษฎรมาเป็นระยะ ๆ แต่ทรงเชื่อใจอดีตนายทหารคนสนิทของพระองค์มาก
เล่ากันว่าทรงเคยเรียก ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี เพื่อมาสอบถามว่า ได้รู้เห็นเป็นใจกับขบวนการคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เขาลือกันอยู่หรือไม่
ร.ท.ประยูร ตอบปฏิเสธต่อทูลกระหม่อมบริพัตรว่า ไม่รู้เรื่อง
ด้วยความไว้วางใจนายทหารคนสนิทคนนี้ จึงทำให้พระองค์ไม่สนใจการแจ้งเตือนเรื่องการเคลื่อนไหวของคณะราษฎร์จากพระยาอธิกรณ์ประกาศ
และนี่คือหนึ่งในสาเหตุที่คณะราษฎร์ก่อการสำเร็จ เพราะทูลกระหม่อมบริพัตร เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยและเป็นผู้รักษาพระนคร มีอำนาจเป็นรองเพียงพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น
แต่ด้วยทรงมอบความไว้ใจให้กับทหารคนสนิทที่ชื่อ ร.ท.ประยูร แล้วก็ทรงโดยหักหลัง ในที่สุดโดนจับตัวและโดนควบคุมตัวโดยร.ท.ประยูร
สาเหตุที่ไว้ทรงมอบความไว้วางใจมากขนาดนั้น เพราะ ร.ท.ประยูร คือเด็กที่ทรงชุบเลี้ยงมาตั้งแต่เกิด
ร.ท.ประยูร หรือในเวลาต่อมาคือ พลโทประยูร ภมรมนตรี คือใคร?
ร.ท.ประยูร ผู้นี้เมื่อแรกเกิดทูลกระหม่อมบริพัตรเป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า “ประยูร”แล้วยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับเอาไว้อุปการะ ชุบเลี้ยง ส่งเสียให้การศึกษามาตั้งแต่เกิด และทรงรับเป็นข้าหลวงในพระองค์ทูลกระหม่อมบริพัตร ในเวลาต่อมาอีกด้วย
โดย ร.ท.ประยูร เป็นข้าหลวงใกล้ชิดของทูลกระหม่อมบริพัตร
ข้าหลวง คือคนรับใช้ของเจ้านาย
ต่อมา ร.ท.ประยูรได้รับทุนไปศึกษาต่อด้านรัฐศาสตร์ ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งที่ฝรั่งเศสนี้มีนายปรีดี ซึ่งในขณะนั้นเป็นเสมือนผู้นำของนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส ทำให้ทั้ง 2 คนสนิทสนมกันอย่างมาก
ซึ่งในเวลาต่อมา”ประยูร”คนนี้คือ หนึ่งในสองคนแรกที่ร่วมกันให้กำเนิดคณะราษฏร โดยร่วมกับนายปรีดี พนมยงค์
และในการประชุมครั้งแรกของคณะราษฎร ที่บ้านพักเลขที่ 9 ถนนซอมเมอราร์ด กรุงปารีส ที่ติดต่อกันนานถึง 4 คืน 5 วัน ในต้นปี พ.ศ. 2470 ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของคณะราษฏร์ จัดขึ้นในวันเกิดปีที่ 30 ของร.ท.ประยูร ที่บ้านพักของร.ท.ประยูรนั้นเอง
……………………………………………………………………………
พระยาอธิกรณ์ประกาศ หรือ นายหลุย จาติกวณิช คือใคร?
นายหลุย จาติกวณิช แต่เดิมมีชื่อว่า “ซอเทียหลุย”เป็นบุตรชายของเจ้าสัวชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย
เรียนหนังสือในวังของพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ (ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์พระองค์หนึ่งที่ใกล้ชิดมากกับพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5)ก่อนจะย้ายมาไปเรียนกันที่โรงเรียนอัสสัมชัญ
เรียนจบแล้วเริ่มทำงานเป็นเสมียนที่ห้างบอเนียว ก่อนจะลาออกมารับราชการในกรมกองตระเวน กระทรวงนครบาล จนได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยาอธิกรณ์ประกาศ ตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ
……………………………………………………………………………
เช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
ร.ท.ประยูร รับหน้าที่ตัดสายโทรศัพท์และสายโทรเลข ที่สำนักงานใหญ่กรมไปรษณีย์โทรเลข เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งพระนคร โดยปฏิบัติการคู่กับนายควง อภัยวงศ์ ในฐานะที่ทั้งคู่รับราชการในกรมไปรษณีย์โทรเลข จึงถือเป็นผู้เชี่ยวชาญ
โดยเริ่มกันตั้งแต่เวลา 04.00 น. และต้องให้เสร็จทันในเวลา 05.00 น. ท่ามกลางการคุ้มครองของทหารเรือและพลเรือนกลุ่มหนึ่งของคณะราษฎรราว 10 คนเท่านั้น
ตัดฉากไปที่ พระยาอธิกรณ์ประกาศ ซึ่งยังนอนหลับอยู่ในบ้านพัก ได้รับรายงานเรื่องการปฏิวัติว่า มีบุคคลกลุ่มหนึ่งเข้าทำการยึดกรมไปรษณีย์โทรเลข และตัดสายโทรศัพท์ โทรเลข ไว้ได้หมดแล้ว
ด้วยสัญชาตญาณของความเป็นตำรวจรวมกับข้อมูลที่มี จึงประมวลเหตุการณ์เรื่องราวได้ทั้งหมด ว่ากำลังจะเกิดการปฏิวัติ
จึงตัดสินใจเดินทางเข้าสู่วังบางขุนพรหมทันที พร้อมกำลังตำรวจ เพื่อเข้าเฝ้าถวายรายงานแด่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ
ในขณะนั้นมีเรือตอร์ปิโดหาญทะเลของทหารเรือฝ่ายคณะราษฎรที่ควบคุมโดย เรือโท จิบ ศิริไพบูลย์ คอยลาดตระเวนดูอยู่
เมื่อเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯทรงทราบ แต่ก็ยังทรงลังเลและกำลังจะทรงหนีทางท่าน้ำหลังวังพร้อมด้วยครอบครัวและข้าราชบริพารจำนวนหนึ่ง
ทันใดนั้นพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ซึ่งเป็นผู้นำกองกำลังก็บุกมาถึงวังบางขุนพรหม
ฉากบู๊ก็เริ่มขึ้น
เมื่อพระยาอธิกรณ์ประกาศ ชักปืนยิงต่อสู้ แต่เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ขอให้วางปืน เพราะไม่อยากให้คนไทยเสียเลือดฆ่าฟันกันเอง
แล้วฉากบู๊ก็จบลงจากความชุลมุน อย่างรวดเร็วและง่ายดาย
หลังจากนั้น พระยาอธิกรณ์ประกาศได้ถูกควบคุมตัวในพระที่นั่งอนันตสมาคม อันเป็นที่บัญชาการของคณะราษฎร เฉกเช่นเจ้านายพระองค์อื่น และบุคคลสำคัญต่าง ๆ ด้วย
……………………………………………………………………………
จากบันทึกจากส่วนหนึ่งของหนังสือ “ชีวิต 5 แผ่นดิน” โดยพลโทประยูร
พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี ได้เขียนหนังสื่อที่เล่าถึงเบื้องหน้า-เบื้องหลังด้วยตัวท่านเองในช่วงเหตุการณ์ปฏิวัติของคณะราษฎร ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนในช่วงจับกุมองค์ทูลกระหม่อมบริพัตร ดังนี้
……………………………………………………………………………
ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เวลา 08.00 น. พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม พล.ต.พระประสาทพิทยายุทธ์ กับ ร.อ.หลวงนิเทศฯ ร.น. ได้นำจอมพล สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ (ทูลกระหม่อมบริพัตร )มาในรถถัง ส่งให้ข้าพเจ้าที่หน้าประตูพระที่นั่งอนันต์ ข้าพเจ้าได้ถวายคำนับ เชิญเสด็จให้ลงเดินเข้าไปประทับในพระที่นั่ง
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงจ้องข้าพเจ้าด้วยพระเนตรดุเดือด ตรัสว่า “ตาประยูร แกเอากับเขาจริงๆ พระยาอธิกรณ์ประกาศบอกฉันไม่เชื่อ ฉันตั้งชื่อ ทำขวัญให้แกเมื่อเกิด ฉันเลี้ยงแกมาตั้งแต่เด็ก โกรธฉันที่ไม่ไปเผาศพพ่อแกใช่ไหม”
แล้วก็ทรงเหลียวมองดูหน่วยทหารที่พลุกพล่านเต็มลานพระบรมรูป ข้าพเจ้าจึงกราบทูลว่า
“ถ้าบิดาข้าพระพุทธเจ้าสามารถทราบได้ คงจะเศร้าใจมาก”
ในที่สุดข้าพเจ้าเร่งให้เสด็จลงจากรถถัง ทรงสำทับถามว่า “จะเอาฉันไปไหน อย่าเล่นสกปรกนะ”
ข้าพเจ้ากราบทูลยืนยันว่า “เชิญเสด็จไปประทับในพระที่นั่งเถอะพ่ะย่ะค่ะ รับรองไม่มีภัยประการใด ข้าพระพุทธเจ้าจะอยู่เฝ้าด้วยตนเอง”
ท่าทางของข้าพเจ้าตอนนั้นคงจะป่าเถื่อนอยู่มาก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงจ้องมองข้าพเจ้าด้วยความหวาดระแวง พอข้าพเจ้าสำนึกตัวได้ จึงวางปืนลง แล้วก้มลงกราบขอทรงประทานอภัย ทรงรับสั่งถามเป็นคำแรกว่า
“ใครเป็นหัวหน้า พระองค์บวรเดชใช่ไหม”
ข้าพเจ้ากราบทูลว่า “ไม่ใช่พะย่ะค่ะ “
ทรงถามอีกว่า “แล้วใครเล่า”
“ยังกราบทูลไม่ได้พะย่ะค่ะ “
ทูลกระหม่อมฯ ทรงกริ้วข้าพเจ้า รับสั่งหนักแน่นว่า “ตาประยูร แกเป็นกบฏ โทษถึงต้องประหารชีวิต”
ข้าพเจ้าก็กราบทูลว่า ” ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นกบฏ ไม่ได้ล้มพระราชบัลลังก์ ถ้าข้าพระพุทธเจ้าพลาดพลั้งทำการไม่สำเร็จต้องถูกประหารแน่ แต่วันนี้ คณะข้าพระพุทธเจ้าทำการสำเร็จ ใต้ฝ่าพระบาทไม่มีอันตรายประการใด “
แล้วทรงรับสั่งถามต่อไปว่า
“พวกแกที่ยึดอำนาจนี้ต้องการอะไร มีความประสงค์อะไร ต้องการมีปาลีเมนต์ มีคอนสติติวชั่นใช่ไหม?”
ข้าพเจ้ากราบทูลตอบไปว่า ” พะยะค่ะ “
ทูลกระหม่อมฯ ทรงนิ่งอยู่ครู่แล้วรับสั่งถามว่า
“แล้วมันจะดีกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้หรือตาประยูร”
ข้าพเจ้ากราบทูลตอบไปว่า “อารยประเทศทั่วโลกก็มีปาลีเมนต์กันทั่วไป ยกเว้นแต่อาบิสซีเนีย “
ทรงถามว่า “ตอนนี้แกอายุเท่าไหร่?”
เมื่อข้าพเจ้ากราบทูลว่า ” 35 พะยะค่ะ “
ทรงรับสั่งว่า “เด็กเมื่อวานซืนนี้เอง นี่แกรู้จักคนไทยดีแล้วหรือ แกจะต้องเจอปัญหาเรื่องคน พระราชวงศ์จักรีครองเมืองมา ๑๕๐ ปีแล้ว รู้ดีว่าคนไทยนี่ปกครองกันได้อย่างไร อ้ายคณะของแกจะเข็นครกขึ้นเขาไหวรึ”
“ถึงแม้จะทำสำเร็จ ก็ระวังเถอะ วันหนึ่งจะฆ่ากันเองตายเหมือนประเทศฝรั่งเศส สุดท้ายก็เอา กิโยตินมาตัดคอกันเอง ระวังนะ คิดตรงนี้รอบคอบหรือยัง”
พอดี น.ต.หลวงสินธุสงครามชัย เปิดประตูเข้ามาถวายคำนับ ส่งขนมปังให้ข้าพเจ้าก้อนหนึ่งกับใบปลิว 3-4 แผ่น ข้าพเจ้าเอาใบปลิวมาอ่านคร่าว ๆ รู้สึกว่ามีข้อความที่รุนแรงอยู่มากซึ่งเป็นเรื่องการเมือง
แต่แล้ว พออ่านบรรทัดสุดท้าย รู้สึกเลือดขึ้นหน้าซ่า คำทำนายของกรมพระนครสวรรค์ฯ ที่รับสั่งอยู่หยกๆ ว่า “สุดท้ายพวกแกจะต้องเข่นฆ่ากันเอง” พลันเป็นความจริงขึ้นแล้ว
คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี)ได้เขียนข้อความไว้ในวรรคสุดท้ายของคำประกาศยึดอำนาจ ความว่า
“จะได้นำประชาชนให้ไปสู่ความสุข ความเจริญอย่างประเสริฐสุด ซึ่งเรียกว่าศรีอารยะนั้น ก็พึงบังเกิดแก่ราษฎรถ้วนหน้า”
……………………………………………………………………………
อันคำว่า “ศรีอารยะ” นั้น เป็นคำแฝงที่คุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรมใช้แทนคำว่า “คอมมูนิสต์”
……………………………………………………………………………
ตกลง คุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ถือโอกาสแทรกเจตจำนงที่จะนำประเทศชาติไปสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในคำประกาศยึดอำนาจนั้นขึ้นแล้วในวาระแรก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องผจญสู้และป้องกันกันต่อไป..
ทั้งหมดนั้น คือข้อเขียนที่พลโทประยูร เขียนด้วยตัวเองในหนังสือ ชีวิต 5 แผ่นดิน
ร.ท.ประยูร เพิ่งรู้ตัวว่าโดนปรีดีหลอกให้ปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย แต่ความจริง ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
……………………………………………………………………………
พลโทประยูร ภมรมนตรี ถึงแก่อนิจกรรมจากการถูกรถโดยสารประจำทางสาย 204 พุ่งชนขณะยืนรอข้ามถนนบริเวณสี่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2525 รวมอายุ 85 ปี
พลโทประยูร ภมรมนตรี คือบิดาแท้ๆ ของแซม นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ดารานักแสดงที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี
……………………………………………………………………………
ส่วนพระยาอธิกรณ์ประกาศ
ซึ่งเป็นคนแรกที่รู้ข่าวความเคลื่อนไหวของคณะราษฏร์ และเป็นผู้ที่วิ่งไปแจ้งข่าวการก่อการปฏิวัติให้กับทูลกระหม่อมบริพัตร ก็เป็นข้าราชการคนแรกที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งในวันที่ปฏิวัตินั้นเอง
พระยาอธิกรณ์ประกาศ มีบุตรที่มีชื่อเสียงหลายคน คือ
• นายแพทย์กษาน จาติกวณิช อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
• นายเกษม จาติกวณิช หรือ “ซูเปอร์เค” เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
• ไกรศรี จาติกวณิช อดีตอธิบดีกรมศุลกากรและกรมสรรพากร
……………………………………………………………………………
ไกรศรี จาติกวณิช คือบิดาของ กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า
และพระยาอธิกรณ์ประกาศ คือคุณปู่ของกรณ์ จาติกวณิช
……………………………………………………………………………
หมายเหตุ มิได้มีเจตนาจะให้ร้ายผู้ใด และมิได้มีเจตนาสร้างความเกลียดชังต่อบุคคลในประวัติศาสตร์ เป็นแต่เพียงการนำเสนอเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เท่านั้น ซึ่งบางคนอาจมองว่าถูก บางคนอาจมองว่าผิด ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมของแต่ละคน
……………………………………………………………………………
อัษฎางค์ ยมนาค
รวบรวม เรียบเรียง
ภาพประกอบ โตโจ้นิวส์
You must be logged in to post a comment Login