วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2458 ได้มีการประกาศให้ “กรมพลตระเวน” กับ “กรมตำรวจภูธร”
เป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า “กรมตำรวจ” ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”
กรมตำรวจ จึงได้ยึดถือเอาวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปีเป็น วันตำรวจ และได้มีการประกอบพิธี
วันตำรวจ อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2492 ซึ่งในขณะนั้น
พล.ต.อ. หลวงชาติ ตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจและ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
กิจการตำรวจได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยพระองค์ทรง
พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองบ้านเมืองเป็น 4 เหล่า เรียกว่า จตุสดมภ์
ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา และพร้อมกันนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีกิจการตำรวจขึ้น
โดยให้ขึ้นอยู่กับเวียง อันมีเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายก อัครมหาเสนาบดี เป็นผู้บังคับบัญชา
สำหรับกิจการตำรวจในขณะนั้น แบ่งออกเป็นตำรวจพระนครบาล ตำรวจภูธร ส่วนตำรวจหลวง
ให้ขึ้นอยู่กับวัง มีเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ศรีรัตนมณเฑียรบาล เป็นผู้บังคับบัญชา
และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราศักดินาของตำรวจไว้เป็นบรรทัดฐานในบทพระอัยการ
ระบุตำแหน่งนายพลเรือน เช่นเดียวกับข้าราชการฝ่ายอื่น
มีเอกสารหลายชิ้นที่แสดงว่า บุคคลที่จะเป็นตำรวจได้นั้นต้องคัดเลือกจากผู้ที่มีชาติกำเนิด
สืบเชื้อสายมาจากตระกูลที่ได้ทำคุณงามความดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
และต้องเป็นบุคคลที่ทรงวางพระราชหฤทัย การบังคับบัญชาตำรวจก็ต้องขึ้นตรง
ต่อพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะแต่พระองค์เดียว ทำให้กิจการตำรวจในยุคนี้จะจัดตั้งขึ้น
เพื่อให้ทำหน้าที่ในวงจำกัด และมิได้ขยายไปยังส่วนการปกครองทั่วประเทศเท่าไหร่นัก
แต่เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศมากขึ้น
กรมตำรวจจึงได้รับการปรับปรุงรูปแบบเพื่อให้เป็นไปตามแบบอย่างประเทศตะวันตก
โดยในปี พ.ศ. 2405 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปรับปรุงกิจการตำรวจครั้งสำคัญ
มีการจัดตั้งกองตำรวจขึ้นเป็นครั้งแรกตามแบบอย่างยุโรป เรียกว่า กองโปลิศ
โดยจ้างชาวมลายูและชาวอินเดียเป็นตำรวจ เรียกว่า คอนสเตเปิล โดยให้มีหน้าที่รักษาการณ์
แต่ในเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน และขึ้นอยู่กับสังกัดกรมพระนครบาล
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปรับปรุงกองโปลิศ
และจัดตั้งตำรวจภูธรขึ้นเป็นทหารโปลิศ ในปี พ.ศ. 2419 เพื่อให้เป็นกองกำลังรักษาความสงบ
เรียบร้อยในส่วนภูมิภาค และให้สามารถปฏิบัติการทางทหารได้ด้วย
โดยได้ว่าจ้าง นาย G. Schau ชาวเดนมาร์ก เป็นผู้วางรากฐาน
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2420 กองทหารโปลิศได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น กรมกองตระเวนหัวเมือง
และได้มีการจัดตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้นแทนกรมกองตระเวนหัวเมือง
ในปี พ.ศ. 2440 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลตรี พระยาวาสุเทพ (G. Schau)
เป็นเจ้ากรมตำรวจภูธร และได้มีการขยายกิจการตำรวจไปยังหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาค
โดยกิจการตำรวจในยุคนี้ขึ้นอยู่กับ 2 กระทรวง คือ กรมพลตระเวน หรือตำรวจนครบาล
ขึ้นอยู่กับกระทรวงพระนครบาล ส่วนกรมตำรวจภูธร ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการรวบรวมกิจการตำรวจมาเป็นกรมเดียวกัน
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2458 เรียกว่า กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน ต่อมาปลายปีได้เปลี่ยน
เป็นกรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาล และยกฐานะของเจ้ากรมขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย
ในปี พ.ศ. 2465 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงพระนครบาล
เป็นกระทรวงเดียวกัน เรียกว่า กระทรวงมหาดไทย กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาล
จึงโอนมาขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย
หลังจากนั้นช่วงปี พ.ศ. 2469 กรมตำรวจออกเป็น 2 ประเภท คือ ตำรวจที่จับกุมโจรผู้ร้าย ไต่สวน
ทำสำนวนฟ้องศาล โปลิศสภาโดยตรง เรียกว่า ตำรวจนครบาล ส่วนตำรวจที่ทำการจับกุมผู้ร้ายได้แล้ว
ส่งให้อำเภอไต่สวนทำสำนวนให้อัยการประจำจังหวัดนั้น ๆ เรียกว่า ตำรวจภูธร
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2475 จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อจากกรมตำรวจภูธร มาเป็นกรมตำรวจ
และในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อปี วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2541
ในปี พ.ศ. 2560 พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในขณะนั้น
มีคำสั่งให้เปลี่ยนแปลงวันตำรวจไทย จากเดิมวันที่ 13 ตุลาคม เป็นวันที่ 17 ตุลาคม
ซึ่งเป็นวันสถาปนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (17 ตุลาคม พ.ศ. 2541)
เนื่องจากวันที่ 13 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นการแสดงความเคารพเทิดทูนพระองค์
ข้อมูลจาก
เปิดเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจของ ‘วันตํารวจแห่งชาติ’ – Samyan Mitrtown (samyan-mitrtown.com)
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ไทย) – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)
Royal Thai Police – Wikipedia
You must be logged in to post a comment Login