เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2501 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อทรงดนตรีและพระราชทานข้อคิด
แก่นิสิตจุฬาฯ อันเป็นการเริ่มต้นของ วันทรงดนตรี
วันทรงดนตรี เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่คณาจารย์และนิสิตจุฬาฯ ที่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าฯ
เพื่อถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ประสูติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 และด้วยเหตุที่สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์ใหม่
ประสูติในช่วงเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชประสงค์จะพระราชทานนามให้มีคำว่า “จุฬา” อยู่ในพระนามนั้นด้วย
และก็ได้พระราชทานนามว่าเจ้าฟ้า “จุฬาภรณ์”
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้นิสิตจุฬาฯ เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2500 ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ได้รับสั่งกับนายสันทัด ตัณฑนันทน์ หัวหน้าวงดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาฯ สมัยนั้นว่า
จะนำ วงลายคราม มาบรรเลงที่จุฬาฯ
งานวันทรงดนตรี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2501
ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
บรมนาถบพิตร เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
นอกจากจะทรงดนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ยังได้พระราชทานข้อคิดแก่นิสิตจุฬาฯ และ พระราชทานความเป็นกันเอง สร้างบรรยากาศอันอบอุ่น สนุกสนาน
และประทับใจเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เสด็จฯ มาทรงดนตรีที่จุฬาฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2501 – พ.ศ. 2516
เนื่องจากทรงมีพระราชภารกิจเพิ่มขึ้นจึงไม่ได้เสด็จฯ มาทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยอีก
You must be logged in to post a comment Login