ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งสำคัญเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนและพัฒนาสังคมมายาวนาน ได้เขียนบทความเผยแพร่ที่หน้าเฟซบุ๊คส่วน อธิบายถึงแนวคิดในการสร้างรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแลลยั่งยืน
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์ขออนุญาตนำบทความของท่านมาเผยแพร่ในฟื้นที่สาธารณะ โดยมีรายละเอียดดังนี้
“โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในอดีตนั้น เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิด การเติบโต (Growth-Driven Economy) ผลที่ตามมาคือ ยิ่งเร่งการเติบโตมากขึ้นเท่าใด ความไม่สมดุลและความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
ความไม่สมดุลและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ทำให้ประเทศไทยจมปลักอยู่ใน “กับดักรายได้ระดับปานกลาง” “กับดักความยากจน” และ “กับดักความขัดแย้ง” จวบจนปัจจุบัน
ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับโครงสร้างจากระบบเศรษฐกิจ “เพิ่มมูลค่า” (Value Added Economy) ที่ติดอยู่ในกับดัก “ทำมาก ได้น้อย” ไปสู่ระบบเศรษฐกิจสร้างมูลค่า (Value Creation Economy) เพื่อตอบโจทย์การ “ทำน้อย ได้มาก” แทน
อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น แต่ไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์การเติบโตอย่างสมดุล ทั่วถึง และยั่งยืน เพราะการปรับเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจเพิ่มคุณค่าไปสู่ระบบเศรษฐกิจสร้างมูลค่า เปรียบเสมือนการขยายขนาดของชิ้นพาย (Size of Pie)ให้ใหญ่ขึ้น แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ชิ้นพายที่ใหญ่ขึ้นนั้น
1. กระจุกอยู่กับคนเพียงไม่กี่กลุ่ม หรือ มีการกระจายอย่างทั่วถึง
2. เป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ “สมดุล” หรือ “ไม่สมดุล”
ดังนั้นในการสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างสมดุล ทั่วถึง และยั่งยืน จึงมีประเด็นว่าด้วย
1. การทำลาย “ส่วนเกินปกติ” และ “การผูกขาด” ทางเศรษฐกิจ ที่ซ่อนอยู่ในรูปแบบต่างๆ ไปสู่ การทำให้ “กลไกตลาด” ทำงานอย่างสมบูรณ์ พร้อมๆกับการสร้าง “ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ” ให้เกิดขึ้น
2. การปรับสมดุล
– ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ กับ ความอยู่ดีมีสุขของคนในสังคม การรักษ์สิ่งแวดล้อม ศักยภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
– ภายในภาคเศรษฐกิจ ระหว่างภาคเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการ รองรับพลวัตการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โครงสร้างประชากร และการสร้างงานในอนาคต
– ระหว่างตลาดในประเทศและตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้พลวัตเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปมากในโลกหลังโควิด
ทั้งสองประเด็นต้องทำควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจ “เพิ่มมูลค่า” ไปสู่ระบบเศรษฐกิจ “สร้างมูลค่า” จึงจะตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตอย่าง สมดุล ทั่วถึงและยั่งยืน
*โมเดลเศรษฐกิจไทยในโลกหลังโควิด
ในโลกหลังโควิด การเติบโต “เชิงคุณภาพ” เท่านั้น จึงจะตอบโจทย์ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ภายใต้ตรรกะดังกล่าว
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจะต้องนำไปสู่โมเดลเศรษฐกิจที่เน้นการเติบโตอย่างสมดุล ทั่วถึง และยั่งยืนโดยเน้น
1. การเติบโตที่เพิ่ม Size of Pie ให้กับคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพิ่ม Share of Pie ให้กับคนบางกลุ่ม
2. การเติบโตที่มาจาก “พลังประชาชน” ไม่ใช่ “พลังตลาด” ที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก
3. การเติบโตที่มุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยส่วนใหญ่
รูปธรรมของโมเดลเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างสมดุล ทั่วถึง และยั่งยืน คือ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG”
โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นการผนึก 3 ภาคเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อาศัยใช้องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ
โมเดลเศรษฐกิจ BCG สอดรับกับเป้าหมายของ “การปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ” 3 ประการ
1. สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก
2. เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
3. น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
BCG เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่สร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยนำจุดแข็งของประเทศไทย อันประกอบด้วย “ความหลากหลายทางชีวภาพ” และ “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” มาต่อยอดและยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการครอบคลุม 4 สาขายุทธศาสตร์สำคัญ ประกอบไปด้วย
1. เกษตร และอาหาร
2. สุขภาพ และการแพทย์
3. พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ
4. การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์
นอกเหนือจากจะมีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ผ่านการกระจายโอกาสและความมั่งคั่งแล้ว โมเดลเศรษฐกิจ BCG ยังยึดโยงเศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจภูมิภาค เข้ากับเศรษฐกิจโลก ได้เป็นอย่างดี
ที่สำคัญ โมเดลเศรษฐกิจ BCG ตอบโจทย์แนวคิด “เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ด้วยเป็นการสานพลังทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะ “พหุภาคี” ระหว่างชุมชน ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายต่างประเทศ
แม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข และระบบเศรษฐกิจโลก จนเกิดเป็น “ชีวิตวิถีใหม่” ประเทศไทยสามารถพลิก “วิกฤต” เป็น “โอกาส” ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG เหตุผลสำคัญคือ “ความมั่นคงของมนุษย์” จะเป็นหนึ่งในประเด็นท้าทายในโลกหลังโควิด ครอบคลุมถึงความมั่นคงทางด้านอาหาร ความมั่นคงทางด้านสุขภาพและการแพทย์ ความมั่นคงทางด้านพลังงานตลอดจนความมั่นคงของการมีงานทำ
จะเห็นได้ชัดว่า ทั้ง 4 สาขายุทธศาสตร์ของโมเดลเศรษฐกิจ BCG จะสามารถตอบโจทย์
– ชีวิตวิถีใหม่สู่ความยั่งยืน
– ผ่านการสร้าง
– ความมั่นคงของมนุษย์
– ในโลกหลังโควิดได้เป็นอย่างดี
*ขับเคลื่อน BCG เชิงพื้นที่
นอกเหนือจากการขับเคลื่อนใน 4 สาขายุทธศาสตร์แล้ว โมเดลเศรษฐกิจ BCG ยังครอบคลุมการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ โดยอาศัยคุณค่าของ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” และ “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ที่มีอยู่ในแต่ละภูมิภาคของประเทศ มาผนวกกับการบริหารจัดการสมัยใหม่ เติมเต็มด้วยองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นการเปิดโอกาสให้แต่ละพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเอง และรวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีพลัง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
BCG เชิงพื้นที่จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยก้าวข้าม 3 กับดักสำคัญ คือ “กับดักรายได้ระดับปานกลาง” “กับดักความยากจน” และ “กับดักความขัดแย้ง”
มิเพียงเท่านั้น BCG เชิงพื้นที่จะก่อให้เกิดการเติบโตที่เพิ่ม Size of Pie ให้กับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนที่อยู่ที่ฐานรากของพีระมิด BCG เชิงพื้นที่จึงเป็นโมเดลการสร้างความมั่งคั่งแบบ “กระจายตัว” เน้นการเติบโตที่เติมเต็ม “พลังชุมชน” มุ่งยกระดับมาตรฐานและคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยส่วนใหญ่ (Well-beings of the Mass) เป็นสำคัญ
… BCG Economy Model จึงเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์การเติบโตที่สมดุล ทั่วถึง และยั่งยืน ในโลกหลังโควิดอย่างแท้จริง
You must be logged in to post a comment Login