Connect with us

News

ตะลึงยอดตัวเลข! เผยแล้ว… ยอดผู้ป่วยนอกที่ไปรับยาแล้วกลับบ้าน ตั้งแต่ มี.ค.65 – 6 ก.ค.65 มีทั้งสิ้น เท่าไหร่??

Published

on

ศบค.เผย ผู้ป่วยนอกที่ไปรับยาแล้วกลับบ้าน ตั้งแต่ มี.ค.65 – 6 ก.ค.65 มีทั้งสิ้น 5,113,782 ราย ในสัปดาห์ที่ 26 มีผู้ป่วยประมาณ 207,643 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 29,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ป่วยจริง

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,144 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,144 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,144 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 1,946 ราย อยู่ระหว่างรักษา 25,082 ราย อาการหนัก 763 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 327 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20 ราย เป็นชาย 11 ราย หญิง 9 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 16 ราย มีโรคเรื้อรัง

มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,540,955 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,485,075 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,798 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 558,649,659 ราย เสียชีวิตสะสม 6,369,032 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. ได้เน้นย้ำถึงกรณีที่มีการออกข่าวหรือมีนักวิชาการออกมาให้ข้อมูลในโซเชียลมีเดียว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมากนั้นว่า อาจจะมีทั้งข้อมูลที่สอดคล้องและผิด โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้ขอให้ฟังข้อมูลจาก ศบค.เป็นหลัก

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้แสดงรายงานข้อมูลผู้ป่วยแบบ OPSI กรณีเจอแจกจบ เป็นผู้ป่วยนอกที่ไปรับยาแล้วกลับบ้าน ตั้งแต่ มี.ค.65 – 6 ก.ค.65 มีทั้งสิ้น 5,113,782 ราย และพบว่า ในสัปดาห์ที่ 26 มีผู้ป่วยประมาณ 207,643 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 29,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ป่วยจริง

โดยนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อแนะนำว่า ตัวเลขนี้มีความสำคัญที่จะต้องสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้ได้รับทราบ แต่อาการผู้ติดเชื้อไม่หนัก และเห็นด้วยกับตัวเลขกระทรวงสาธารณสุขที่รายงานจำนวนผู้รักษาตัวในโรงพยาบาล ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นายอนุทินยืนยันว่ายังมีเตียงรองรับเพียงพอ เตียงทุกระดับ มีทั้งหมด 103,798 เตียง ใช้ไป 11.2% ซึ่งเตียงผู้ป่วยระดับหนึ่งหรือป่วยน้อย มีทั้งหมด 78,229 เตียง ใช้ไปเพียง 11% ผู้ป่วยระดับสองและระดับสาม มีทั้งหมด 5,694 เตียง ใช้ไป 13.4%

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นายกฯระบุว่าแม้ตัวเลขเสียชีวิตรายสัปดาห์จะลดลง แต่ไม่อยากเกิดขึ้นเลยกับคนที่อยู่ในกลุ่ม 608 จึงขอให้รณรงค์ให้กลุ่ม 608 เข้ามารับวัคซีนให้มากขึ้น และยังขอความร่วมมือเรื่องการสวมหน้ากากของคนที่อยู่ใกล้ชิดกับกลุ่ม 608 อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมการติดเชื้อทั่วประเทศ มี 54 จังหวัดที่มีแนวโน้มลดลง และมี 23 จังหวัดที่เป็นขาขั้น และการติดเชื้อระลอกเล็กๆ ในบางจังหวัด อย่าง กทม. และปริมณฑล โดยเฉพาะภูเก็ตที่มียอดเพิ่มสูงพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมืองใหญ่และจังหวัดท่องเที่ยว จึงขอให้ประชาชนช่วยกันในการลดยอดผู้ติดเชื้อให้ได้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีการคาดการณ์ภาพที่จะเกิดขึ้นทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต โดยหลังการระบาดใหญ่จะมีระลอกเล็กๆ เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องภูมิคุ้มกัน หน้ากากอนามัย การทำกิจกรรมรวมกลุ่ม และสายพันธุ์ นายกฯเน้นย้ำว่าเรื่องการสวมหน้ากาก ภูมิคุ้มกัน การรวมกลุ่ม แม้จะผ่อนคลายมาตรการ แต่ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยดูแลประชาชนในภาพรวมเพื่อจะได้ไม่เจอการแพร่ระบาดที่สูงกว่านี้ โดยผู้ป่วยรายใหม่อาจจะมีพุ่งขึ้นได้ตั้งแต่สัปดาห์ รวมถึงผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลอาจจะเพิ่มขึ้น โดยการระบาดจะสูงขึ้นประมาณเดือน ก.ย. และจะเริ่มลดลงในเดือน พ.ย. เช่นเดียวกับตัวเลขผู้เสียชีวิต ที่จะเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ย. แต่หากประชาชนให้ความร่วมมือ ตัวเลขจะได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ในฉากทัศน์นี้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในส่วนของแผนการฉีดวัคซีน นายกฯเน้นย้ำว่าเรื่องวัคซีนเป็นเรื่องส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการเอาชนะ และอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ แม้การฉีดวัคซีนจะยังไม่ถึงเป้าหมาย แต่ต้องฝากทุกคนให้ความร่วมมือด้วย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานตัวเลขการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวนเป้าหมาย 12 ล้านคน แต่มีการฉีดเข็มที่สามแค่ 47.1% เด็กอายุ 12-17 ปี เป้าหมาย 4 ล้านคน ฉีดเข็มที่สามเพียง 20.5% ขณะที่เด็กอายุ 5-11 ปี เป้าหมาย 5 ล้านคน ฉีดเข็มสองเพียง 40.9%

โดยนายกฯยังให้ความสำคัญกับเรื่องการติดเชื้อในโรงเรียน โดยอยากให้กระทรวงสาธารณสุข กทม. เข้ามาดูแลใกล้ชิด นายกฯยังได้รับทราบเรื่องผลสำรวจของกรมควบคุมโรคเกี่ยวกับเหตุผลว่าทำไมผู้สูงอายุไม่ถึงฉีดวัคซีน พบว่า 34.8% ให้เหตุผลว่าฉีดพอแล้ว 20.5% ให้เหตุผลว่ารอฉีด 19.2% ให้เหตุผลว่ากลัวอันตราย และ 16.7% ให้เหตุผลว่าเพิ่งหวยป่วยจากโควิด-19 ซึ่งนายกฯอยากให้ช่วยกันปรับชุดความคิดคนที่ไม่อยากฉีด เพื่อรักษาชีวิตคนไทยให้ได้มากที่สุด

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: