เครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค ยื่นหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
เครือข่ายประชาชนห้าภูมิภาคร้องรัฐบาลยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน และการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ติงฉวยโอกาสคุกคามประชาชน ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกและกลับมาใช้กฎหมายปกติเช่น พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ และพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค ตัวแทนเครือค่ายภาคระชาชน ได้เดินทางไปยื่นเรื่องถึงคณะรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (รวม 390 รายชื่อ)
เครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค เห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและดำเนินการตามข้อกำหนดข้างต้น แม้จะมีผลในการยับยั้งป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วนในระยะแรก แต่โดยที่ขณะนี้สถิติของผู้ติดเชื้อลดลงตามลำดับจนแทบไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่แล้ว อันแสดงให้เห็นว่าการรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทยนั้นไม่ได้อยู่ในสภาวะฉุกเฉินในระดับที่จะไม่สามารถควบคุมโรคได้อีก และที่สำคัญรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบังคับใช้กฎหมายปกติที่มีอยู่โดยเฉพาะพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่ให้อำนาจไว้อย่างครอบคลุมและเป็นกฎหมายที่วัตถุประสงค์โดยตรงในการควบคุมโรคติดต่อ ควบคู่กับการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็งและการประสานความร่วมมือกับประชาชนก็เป็นแนวทางในการควบคุมสถานการณ์โรคติดต่อนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังมีกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่สามารถบังคับใช้ประกอบกันเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดได้โดยไม่จำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินๆ เช่น พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ และพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เป็นต้น ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐบาลและหน่วยงานได้นำมาบังคับใช้ในการประกาศกำหนดมาตรการและให้อำนาจแก่หน่วยงานเจ้าหน้าที่ต่าง ๆในการปฏิบัติหน้าที่ในปัจจุบันอยู่แล้ว
เครือค่ายประชาชนภาค 5 เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางและรุนแรง เป็นรูปแบบการใช้อำนาจที่คลุมเครือ ขาดการถ่วงดุลตรวจสอบ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ฝ้ายปกครองใช้อำนาจทางอาญาได้ โดยมีบทบัญญัติยกเว้นความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่และตัดอำนาจการตรวจสอบโดยศาลปกครอง รัฐจึงต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินๆ ด้วยความระมัดระวังและจำกัดเท่าที่จำเป็นเท่นั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ขณะนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานด้านความมั่นคง กำลังอ้างอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อฉวยโอกาสในการจำกัดและคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยมิได้มีนัยยะเกี่ยวข้องกับการป้องกันยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 แต่อย่างใดทั้งการปฏิบัติการระดับพื้นที่ เช่น
-กรณีการจับกุมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่จากการกิจกรรมสื่อสารต่อสาธารณะในพื้นที่บำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ
-กรณีการยับยั้งการใช้เสรีภาพการแสดงออกของประชาชนในการคัดค้านการสร้างกำแพงกันคลื่นที่หาดม่วงงาม จ.สงขลา
-กรณีการข่มขู่กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ไปยื่นร้องเรียนต่อสภามหาวิทยาลัยขอให้มีการลดค่าเทอมลง
-การสกัดกั้นและดำเนินคดีประชาชนที่จัดกิจกรรมเนื่องในวันครบรอบ 6 ปีรัฐประหารโดยอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินๆ
-การปฏิบัติการตามนโยบายทวงคืนผืนป่าทั้งการตรวจยึดพื้นที่ไถทำลายผลอาสิน และฟ้องดำเนินคดี
รวมถึงความพยายามในการผลักดันนโยบายสาธารณะที่จะมีกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรของประชาชนในห้วงเวลาที่ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกได้ตามปกติ เช่น กรณีการเข้าร่วมกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) และการเร่งรัดจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นต้น
You must be logged in to post a comment Login