องค์การอนามัยโลกเลือกประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลก ถอดบทเรียนการป้องกับควบคุมโควิด-19 โดยใช้เครื่องมือที่องค์การอนามัยโลกได้พัฒนาขึ้นมาใหม่
วันนี้ 23 พ.ค. 63 ประเทศไทยเข้าร่วมการถอดบทเรียนการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 โดยทีมจากองค์การอนามัยโลก องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันในประเทศ ใน 9 เสาหลักสำคัญต่อการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 โดยมีผู้แทนของไทยเข้าร่วมกว่า 100 คนจากทุกภาคส่วน ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกของโลกที่เข้าร่วมการถอดบทเรียน อันถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณสุข และการป้องกันควบคุมโรคของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมการระบาดระลอกที่สองที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าร่วมการถอดบทเรียนการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 โดยทีมจากองค์การอนามัยโลก องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันในประเทศ ระหว่างวันที่ 20-24 กรกฎาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ซึ่งมีผู้แทนและผู้ปฏิบัติงานจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนจากองค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลรัฐและเอกชน มหาวิทยาลัย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มูลนิธิรักษ์ไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และอีกหลายหน่วยงาน เข้าร่วมกว่า 100 คน ใน 9 เสาหลักสำคัญต่อการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ได้แก่
1) การประสานงาน การวางแผน การติดตามและประเมินผลในระดับประเทศ
2) การสื่อสารความเสี่ยงและการมีส่วนร่วมของชุมชน
3) การเฝ้าระวัง การสอบสวนโรค และการติดตามผู้สัมผัส
4) ช่องทางเข้าออกประเทศ
5) ระบบห้องปฏิบัติการแห่งชาติ
6) การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ
7) การจัดการผู้ป่วย และการแบ่งปันความรู้ นวัตกรรมและการวิจัย
8) การสนับสนุนการปฏิบัติงานและการขนส่งในห่วงโซ่อุปทาน และการจัดการกำลังคน และ
9) การบำรุงรักษาด้านบริการสุขภาพที่จำเป็นระหว่างการระบาดของโรคโควิด 19
โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่เข้าร่วมการถอดบทเรียนการดำเนินงานจัดการปัญหาโรคโควิด 19 โดยใช้เครื่องมือที่องค์การอนามัยโลกได้พัฒนาขึ้นมาใหม่
นายแพทย์สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การที่ประเทศไทยเข้าร่วมการถอดบทเรียนการดำเนินงานภายใต้การระบาดของโรคโควิด 19 ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานป้องกันควบคุมโรค พัฒนาระบบบริหารจัดการภายใต้ภาวะฉุกเฉิน รวมถึงพัฒนากระบวนการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ดียิ่งขึ้น เพื่อก้าวไปสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศไทย พร้อมรับมือกับการระบาดระลอกสองที่อาจจะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ของประเทศไทยจะไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศมาหลายสัปดาห์แล้ว แต่ยังมีการรายงานการพบผู้ป่วยติดเชื้อที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศในสถานกักกันที่สนับสนุนโดยรัฐบาล ดังนั้น ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงมีความจำเป็นในการป้องกันโรค ซึ่งสอดคล้องกับผลการประชุมเตรียมการถอดบทเรียน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค พบว่าประเทศไทยมีความเข้มแข็งในการป้องกันควบคุมโรคที่ดี อันเกิดจากความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ ระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับพื้นที่ที่ร่วมกันดำเนินการตามมาตรการและให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี รวมถึงความร่วมมือจากประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในการสนับสนุนการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ และให้ร่วมมือในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโควิด 19
ข้อมูลจาก : สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค
You must be logged in to post a comment Login