News
เช็กรายละเอียด หมอ เตือน! ใครเสี่ยงมะเร็งปอด ให้ตรวจคัดกรอง หากพบระยะ1-2 สามารถรักษาได้
Published
9 เดือน agoon
By
Admin_Tojoหมอ เตือน PM 2.5 เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอด คำตอบที่ดีที่สุดคือ การคัดกรอง ยิ่งตรวจพบเร็วยิ่งรักษาได้ทัน
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า อ.นพ.ศุภฤกษ์ เจียรผัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
การคัดกรองมะเร็งปอด
กลัวเป็นมะเร็งปอด ใช่มั้ยครับ
เราต้องคัดกรองมะเร็งปอดกัน ดูจากสถานการณ์อากาศของบ้านเรา คิดว่าคงจะต้องเจอปัญหา PM 2.5 กันไปอีกนาน
คิดตามสามัญสำนึก ปอดเราเป็นหน้าด่านที่อากาศจะต้องเข้าไปฟอกเลือดเก่า เอาของเสียออก แลกเปลี่ยนก๊าซให้เลือดมีอ๊อกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ
ดังนั้นปอดจึงเป็นอวัยวะแรกที่ต้องเจอกับสิ่งอันตราย ทำให้เซลล์ปอดถูกทำร้ายซ้ำซ้อน จนเกิดเป็นมะเร็งขึ้นมาได้
และยังมีการศึกษาหลายๆชิ้นที่บ่งบอกว่า ค่า PM 2.5 มีความเกี่ยวข้อง เพิ่มอัตราการเกิดมะเร็งปอดของเราอย่างชัดเจน
ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่นี้ เน้นย้ำให้ป้องกันการเกิดโรค ดีกว่าเป็นแล้วค่อยหาทางรักษา
แต่สำหรับมะเร็งปอดการป้องกันคงทำได้ยากเพราะเราต้องหายใจตลอดเวลา โดยเฉพาะอยู่ในภูมิภาคที่อากาศเป็นเช่นนี้
ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดตอนนี้คือทำอย่างไรเราถึงจะเจอเร็วที่สุด เพราะยิ่งพบเร็ว ยิ่งมีโอกาสรักษาหายขาดได้ โดยเฉพาะมะเร็งปอดระยะต้นๆ (ระยะที่ 1-2)
คำตอบที่ดีที่สุดที่ทำได้ขณะนี้ คือ การคัดกรองมะเร็งปอดครับ
ซึ่งการคัดกรองที่ดีและแม่นยำในปัจจุบันคือการทำเอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT นั่นเองครับ สำหรับคัดกรอง การทำเอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำและไม่ต้องฉีดสารทึบรังสีทางหลอดเลือด หรือ Low dose CT ก็เพียงพอครับ สามารถเห็นจุดหรือฝ้าในปอดที่มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ดีเลย ซึ่งจะมีความละเอียดกว่าการใช้ X-ray ปอดแบบปกติแน่นอนครับ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็น Low dose CT ( LDCT) ก็มีข้อเสียคือ การได้รับปริมาณรังสีเข้าร่างกายเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ได้รับปริมาณรังสีสะสมในร่างกายและเกิดอันตรายในอนาคตได้
ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้คนทุกคนทำนะครับ แต่จะแนะนำให้ทำในเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอด ซึ่งก็คือ “การคัดกรอง” นั่นเอง
ทีนี้ใครบ้างล่ะครับ ที่มีความเสี่ยง
ของประเทศไทยเราเองยังไม่มีการกำหนดชัดเจนเป็นวาระแห่งชาติ แต่จะอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลรักษาในสาขาเกี่ยวกับมะเร็งปอด และข้อมูลจากต่างประเทศที่มีการกำหนดนโนบายการคัดกรองมะเร็งปอดไว้แล้ว
หลักๆเลยคือ
1.สูบบุหรี่
2.ญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง สายเลือด
เดียวกัน)เป็นมะเร็งปอด หรือมะเร็งชนิดอื่นๆ
3.เคยเป็นมะเร็งชนิดอื่นๆมาก่อน
4.ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารก่อมะเร็ง
5.ช่วงอายุที่เยอะขึ้น
ทีนี้ตัวเลขและข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนสำหรับทางฝั่งยุโรป อเมริกา และเอเชียเราต่างกันพอสมควรครับ
สรุปมาให้พิจารณาหลักๆ 4 ประเทศครับ คือ อเมริกา อังกฤษ ส่วนเอเชียที่ระบบคัดกรองดีมากๆๆ คือไต้หวันและเกาหลีใต้ครับ
ของอเมริกา แนะนำให้ทำ Low dose CT เมื่อ
-ช่วงอายุ 50-80 ปี ที่สูบบุหรี่ 20 pack-year
และยังคงสูบอยู่หรือหยุดสูบมาไม่เกิน 15 ปี ก็มีความเสี่ยงต้องคัดกรอง (จำง่ายๆว่า A 50-80-20-15 )
[ 1 pack-year = สูบบุหรี่ 1 ซอง (มี 20 มวน) ต่อวันเป็นเวลา 1 ปี (365 วัน) หรือเท่ากับสูบ 7,300 มวน ต่อปี ถ้า 20 pack -year ก็คูณอีก 20 เท่ากับ ปีนึงสูบ 146,000 มวน!!! ]
(อ้างอิง : JAMA. 2021;325(10):962-970.
https://www.uspreventiveservicestaskforce.org/home/getfilebytoken/WN7F3WW6RQFDkHay87a3Dx )
ส่วนของอังกฤษกรองเยอะกว่า โดยรัฐบาลเพิ่งประกาศเมื่อ มิถุนายน 2023 ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยแนะนำให้ทำ low dose CT หมด ถ้า
-อายุระหว่าง 55-74 ปี และ
-ยังสูบบุหรี่ หรือเคยสูบมา
เพราะจากการเก็บข้อมูลพบว่า สามารถคัดกรองเจอมะเร็งปอดระยะต้นจาก LDCT ถึง 76% !!!!
ซึ่งระยะต้นก็หมายถึงมีโอกาสรักษาหายขาดได้นั่นเอง ลองคิดดูสิครับว่าสามารถช่วยรักษาชีวิตคนได้เท่าไหน
(อ้างอิง : https://www.cancerresearchuk.org/health-professional/cancer-screening/lung-cancer-screening)
มาฝั่งเอเชียบ้างครับ อันนี้จะมีเรื่องของผู้ไม่สูบบุหรี่มาเกี่ยวข้องเยอะเลย
ประสบการณ์ส่วนตัวผมเองก็เช่นกัน ในคนไทยเราเจอคนที่เป็นมะเร็งปอด ที่ไม่สูบบุหรี่เยอะครับ ของผมเองพบประมาณ 70 % เลยทีเดียว
เริ่มที่ฝั่งเกาหลีใต้ก่อนครับ
เกาหลีใต้เป็นประเทศแรกๆเลยที่นำ LDCT เข้ามาทำการคัดกรองมะเร็งปอดเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2019 (จากการศึกษา K-LUCAS) โดยแนะนำว่า
-คนที่อายุ 54-74 ปี ที่สูบบุหรี่ตั้งแต่
30 pack-year ขึ้นไป ควรมาทำการคัดกรอง
-แต่ไม่ได้กล่าวถึงกลุ่มความเสี่ยงอื่นๆครับ
ปรากฏว่าก็ได้คัดกรองเจอมะเร็งปอดเยอะจริงๆ แต่ก็มีข้อเสียคือ พบกลุ่มคนไข้ที่มีก้อนในปอดแต่ไม่ใช่มะเร็งปอด(เป็นก้อนติดเชื้ออื่นๆ เช่น วัณโรคปอดที่สร้างแผลเป็นในปอด เป็นต้น) ต้องทำการผ่าตัดปอดเกินจำเป็นไป หรือเรียกว่า ได้รับการวินิจฉัยเกินกว่าเหตุ (over diagnosis) เป็นต้น
และเมื่อปีที่แล้ว มีการเก็บข้อมูลทั้งประเทศมาวิเคราะห์ โดยคนที่ได้รับการคัดกรอง โดย LDCT ช่วงอายุ 20-39 ปี จำนวนทั้งสิ้น 6,891,614 คน
พบคนที่เป็นมะเร็งปอดระยะต้นๆในช่วงอายุน้อยๆ ถึง 4,684 คน โดย 2,585 คน (55.2%) ไม่สูบบุหรี่!!!!
(อ้างอิง : https://www.e-epih.org/upload/pdf/epih-45-e2023101.pdf )
ส่วนไต้หวัน อีกประเทศที่มีระบบคัดกรองมะเร็งปอดที่ดี อันนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มชัดๆเลยครับ โดยแนะนำว่า
1.กลุ่มที่มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็ง
ปอด ควรทำ LDCT กรณี
-ผู้ชายตั้งแต่อายุ 50-74 ปี
-ผู้หญิงตั้งแต่ 45- 74 ปี
ที่ผู้หญิงต้องคัดกรองขณะอายุน้อยกว่า เพราะพบว่าผู้หญิงที่เป็นมะเร็งปอดถึง 90% เป็น non smoker คือไม่มีประวัติสูบบุหรี่ !!!
2.กลุ่มที่สูบบุหรี่ แนะนำที่อายุ 54-74 ปี ที่สูบบุหรี่ตั้งแต่ 30 pack-year ขึ้นไป ทั้งคนที่ยังสูบอยู่ หรือหยุดแล้วแต่หยุดมาน้อยกว่า 15 ปี โดยไม่แยกหญิงชาย
(อ้างอิง https://ascopost.com/issues/november-25-2023-supplement-iaslc-highlights/taiwan-national-lung-cancer-early-detection-screening-program-targets-smokers-and-nonsmokers-with-family-history/ )
ส่วนไทยเรายังไม่มีระบบคัดกรองมะเร็งปอดที่เป็นวาระระดับชาติ แต่จากข้อมูลที่กล่าวไปทั้งหมด ประสบการณ์ส่วนตัวที่แนะนำคือ
-กลุ่มแรกคนที่สูบบุหรี่จัดตั้งแต่ 20 pack-year ขึ้นไป ทั้งยังสูบอยู่ หรือหยุดแล้วแต่หยุดมาน้อยกว่า 15 ปี ควรมาคัดกรองโดย Low Dose CT chest ตั้งแต่อายุ 50-80 ปี ครับ
-กลุ่มที่สองที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ควรตรวจที่อายุน้อยลงมาอีกโดยเฉพาะผู้หญิงครับ ผมแนะนำเหมือนกลุ่มไต้หวัน คือ ผู้ชายตั้งแต่อายุ 50-74 ปี ,ผู้หญิงตั้งแต่ 45- 74 ปี
แต่ถ้ามีประวัติแรงมาก คือมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอดหลายคนหรือเป็นตั้งแต่อายุน้อยๆ ควรรีบมาตรวจหน่อยครับ (คนไข้ผมที่เป็นมะเร็งปอดระยะที่สองโดยบังเอิญพบจาก x-ray ปอด และมีประวัติครอบครัวแรงๆ เป็นผู้หญิงอายุ 24 ปีเองครับ!!!)
-อีกกลุ่มคือผู้อาศัยในสภาพแวดล้อมอากาศแย่ๆ ทำงานปนเปื้อนสารเคมีก่อมะเร็ง หรืออยู่ในบริเวณที่อากาศแย่มาก ค่า PM 2.5 สูงๆแดงๆ ม่วงๆ ตลอด มาคัดกรองดีกว่าครับ มีหลักฐานทางวิชาการบ่งบอกว่า PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปอดโดยเฉพาะผู้ที่มียีนส์กลายพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งปอด (EGFR,KRAS)
( ที่มา: https://www.facebook.com/share/p/7FqL3SMUHxMmtaFb/?mibextid=WC7FNe)
ที่พูดมาไม่ได้ขู่ให้กลัวนะครับ แต่เป็นข้อมูลจริงๆจากที่ดูแลคนไข้มา ผมเองก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยเราจะมีนโยบายแห่งชาติสนับสนุนการคัดกรองมะเร็งปอดอย่างเป็นรูปธรรมในเร็วๆนี้
แต่สำหรับตอนนี้ ถ้าใครที่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโดย LDCT ได้แบบไม่เดือดร้อนก็ไม่อยากให้เสียโอกาสครับ
สำหรับใครที่อยากทราบข้อมูลค่าใช้จ่ายจริงๆ เท่าที่ทราบมา LDCT ราคาจะประมาณ ขึ้นกับแต่ละโรงพยาบาลครับ 3 พันกว่าๆ ไปจนถึงหมื่นกว่าๆเลย
สรุปเลยนะครับ เล่ามายาว มะเร็งปอดรักษาได้ครับ ถ้ายิ่งระยะแรกๆยิ่งผลการรักษาดี อย่างน้อยป้องกันไม่ได้ ด้วยปัจจัยที่เราคุมไม่ได้
แต่เจอเร็ว พบเร็ว ด้วยการคัดกรองที่มีคุณภาพ
เจอมะเร็งปอดระยะต้นๆ มีโอกาสหายขาดสูงครับ
หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ครับ ส่งต่อข้อมูลได้เลยนะครับ บอกพ่อแม่ บอกเพื่อน บอกญาติพี่น้อง
ถ้าใครอ่านเจอบทความนี้แล้วไปตรวจคัดกรองเจอแล้วรักษาหายขาดได้ เท่านี้ผมก็ดีใจมากๆแล้วครับ
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS