ศุภโชติ ชี้ กรณีรัฐบาลประกาศลดค่าไฟ โดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน เหมือนจะดี แต่การดึงเงินเก็บมาใช้
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
[ลดค่าไฟ 3.98 บาท/หน่วย จริงหรือหลอก? รัฐบาลใช้เงินเก่ามาโปะ ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ]
จากที่โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แถลงว่า เตรียมลดค่าไฟฟ้าลงเหลือ 3.98 บาท/หน่วย ในรอบเดือน พ.ค. – ส.ค. 2568 โดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งดูเหมือนเป็นข่าวดีสำหรับประชาชน แต่ในความเป็นจริง วิธีที่ใช้คือการดึงเงินที่เคยเก็บเกินไว้ในอดีต หรือที่เรียกว่า claw back มาใช้ ไม่ใช่การลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริง และไม่ใช่การปฏิรูปโครงสร้างระบบพลังงานตามที่เคยให้สัญญาไว้
รู้จักกับ Claw Back: เงินเก่าที่ไม่ได้ช่วยในระยะยาว
รัฐบาลได้นำเงิน claw back จำนวนกว่า 12,000 ล้านบาท จากทั้งหมดประมาณ 20,000 ล้านบาท ที่สะสมไว้มาใช้ลดค่าไฟรอบนี้ ซึ่งเงินส่วนนี้เป็นผลมาจากการชำระค่าไฟเกินต้นทุนจริงหรือกำไรส่วนเกินที่การไฟฟ้าเคยได้ในอดีต
แม้วิธีนี้จะทำให้ค่าไฟดูถูกลงได้ในระยะสั้น แต่เงิน claw back มีจำกัด และไม่สามารถใช้ซ้ำไปเรื่อย ๆ ได้ เมื่อใช้หมดแล้ว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาโครงสร้างก็ต้องกลับไปใช้วิธีเดิม เช่น การยืดหนี้ของ กฟผ. หรือใช้งบประมาณแผ่นดินมาช่วย ซึ่งล้วนไม่ยั่งยืนทั้งสิ้น
Claw Back ไม่ต่างจากการยืดหนี้ – แค่เลื่อนภาระ ไม่ใช่การแก้ปัญหา
แม้รัฐบาลจะเปลี่ยนจากการ “ยืดหนี้ กฟผ.” มาเป็น “ดึงเงิน claw back” แทน แต่ทั้งสองวิธีนี้ก็เป็นเพียง การจัดการทางบัญชี เพื่อให้ค่าไฟ “ดูถูกลง” ชั่วคราว ไม่ได้ทำให้ต้นทุนระบบไฟฟ้าจริงลดลง และยังเลื่อนภาระไปสู่อนาคต และที่สำคัญ การไม่แก้สัญญาที่เอื้อเอกชน และไม่ลดต้นทุนที่ต้นทาง จะทำให้ค่าไฟกลับมาแพงอีกครั้งเมื่อเงิน claw back หมดลง
แล้วประชาชนจะได้อะไร?
•ได้ค่าไฟถูกลงชั่วคราว จากเงินเก่าที่จ่ายเกินในอดีต
•แต่ไม่ได้เห็นการปรับโครงสร้างที่เป็นธรรม
•โครงสร้างพลังงานยังไม่เปลี่ยน เอกชนยังได้ประโยชน์มากเกิน
•หนี้และต้นทุนในระบบยังอยู่เหมือนเดิม
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเคยประกาศแนวทางปฏิรูประบบพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม 3 ข้อ แล้วแนวทางปฏิรูป 3 ข้อ หายไปไหน?
1.ทบทวนสัญญาซื้อไฟแบบ Adder และ FiT ที่ไม่มีวันสิ้นสุด และเอื้อผลประโยชน์แก่เอกชนบางรายอย่างไม่เหมาะสม
2.ลดภาระในสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว โดยเฉพาะค่า AP และ EP ที่รัฐต้องจ่ายแม้ไม่ได้ใช้ไฟ
3.ปรับระบบบริหารจัดการไฟฟ้า เพื่อให้เลือกใช้แหล่งผลิตที่ต้นทุนต่ำที่สุดอย่างแท้จริง
แต่จนถึงตอนนี้ กลับยังไม่มีความคืบหน้า หรือแผนการชัดเจนที่จะดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว
ข้อเสนอ: ถ้าอยากลดค่าไฟจริง ต้องกล้าปฏิรูป
รัฐบาลควรแสดงความจริงใจและกล้าหาญในการปฏิรูประบบพลังงาน โดยเร่งดำเนินการตามแนวทาง 3 ข้อที่เคยเสนอไว้ ไม่ใช่แค่บริหารตัวเลขเพื่อให้ค่าไฟลดลงชั่วคราว แล้วประชาชนต้องมารับผลในอนาคตอีก ค่าไฟที่ยั่งยืน เกิดขึ้นได้จากโครงสร้างที่โปร่งใส ยุติธรรม และแข่งขันได้ ไม่ใช่การ “ดึงเงินเก่า” มาใช้เพื่อกลบปัญหาใหม่
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS